สศก. เผยผลศึกษาความต้องการกระเทียมไทย-จีน ผ่านมุมมองผู้ประกอบการภาคเหนือ 

นางอัญชนา  ตราโช  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษา เรื่อง “ความต้องการใช้ระหว่างกระเทียมไทยและกระเทียมจีน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำพูน” โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สศท.1) ได้ทำการศึกษาความต้องการใช้กระเทียมของผู้ประกอบการ โดยเปรียบเทียบระหว่างกระเทียมไทยและกระเทียมจีน รวมถึงศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกระเทียมที่เหมาะสมเพื่อให้มีผลผลิตและคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการใช้

การศึกษาดังกล่าว ได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการ 3 จังหวัด จำนวน 16 ราย พบว่า ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการในภาคเหนือ ร้อยละ 94 จะรับซื้อกระเทียมไทย และผู้ประกอบการร้อยละ 6 รับซื้อกระเทียมจีน โดยการรับซื้อกระเทียมไทย จะรับซื้อเป็นกระเทียมแห้ง ร้อยละ 55 เพื่อนำมาแกะกลีบ และส่งต่อไปยังผู้รวบรวมรายใหญ่ทางภาคกลาง ศูนย์กระจายสินค้าของห้างสรรพสินค้า ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง สำหรับจำหน่ายให้กับผู้บริโภค และโรงงานอุตสาหกรรมอาหารเพื่อแปรรูปต่อไป และร้อยละ 45 รับซื้อเป็นกระเทียมสดเพื่อจำหน่ายต่อ และบางส่วนนำไปทำพันธุ์ รวมทั้งส่งอุตสาหกรรมกระเทียมดอง  ในขณะที่กระเทียมจีน ผู้ประกอบการในภาคเหนือ จะรับซื้อและจำหน่ายเป็นกระเทียมแห้งอย่างเดียวทั้งหมด โดยผ่านตัวแทนผู้ค้าชาวจีนซึ่งจะส่งกระเทียมมาจากภาคกลาง อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามความคิดเห็น ผู้ประกอบการภาคเหนือมีความเห็นว่าผู้บริโภคและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเลือกซื้อกระเทียมจีน มากขึ้น เนื่องจากกระเทียมจีนมีการนำเข้ามาในรูปแบบตัดลอนหรือหัวเดี่ยว แกะกลีบง่าย ส่วนกระเทียมไทยจะนำมาขายในลักษณะมัดจุกแบบไม่ได้ตัดแต่ง ผู้ใช้ต้องจ้างแรงงานตัดลอนและแกะกลีบ ส่งผลให้ต้นทุนของกิจการสูงขึ้น และก่อเกิดขยะในสถานประกอบการเพิ่ม

ด้านนายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าวเสริมว่า จากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการถึงความต้องการใช้ระหว่าง กระเทียมไทยและกระเทียมจีนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำพูน โดยร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องประมาณ 40 ราย ประกอบด้วย ตัวแทนเกษตรจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำพูน ตัวแทนผู้ค้าและวิสาหกิจชุมชนผู้รวบรวมกระเทียมในพื้นที่ ตัวแทนร้านอาหาร/ภัตตาคาร และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระเทียมจากคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเดอะวินเพลส จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมหาแนวทางการบริหารจัดการกระเทียมที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาผลผลิตกระเทียมให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการไทย ได้มีข้อเสนอแนะการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านคุณภาพผลผลิต เกษตรกรควรพัฒนาคุณภาพผลผลิตเพื่อแก้ปัญหากลีบฝ่อและให้สามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน โดยใช้ปุ๋ยเคมี ในปริมาณที่เหมาะสมและเก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพกระเทียม ส่วนในระยะต่อไปควรปรับเปลี่ยนมาผลิตกระเทียม GAP และพัฒนาไปสู่กระเทียมอินทรีย์ เนื่องจากมีตลาดรองรับแน่นอนและมีราคาสูง อีกทั้งผู้ประกอบการร้านอาหาร ยินดีสนับสนุนเพิ่มปริมาณการรับซื้อกระเทียมไทยมากขึ้น หากผลผลิตกระเทียมมีคุณภาพดี  ด้านความต้องการ ควรสำรวจความต้องการใช้กระเทียมแต่ละประเภทของผู้ประกอบการ พร้อมกับสำรวจพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมกับการปลูกกระเทียมในแต่ละประเภท และอาจมีการทำข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกร ให้เกิดความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อดีกระเทียมไทยควบคู่กับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมและร้านอาหารต่างๆ และ ด้านการนำเข้า ภาครัฐต้องควบคุมการนำเข้าทั้งกระเทียมพันธุ์และกระเทียมบริโภคอย่างจริงจัง และเข้มงวดการส่งออกกระเทียมพันธุ์ของไทย เพื่ออนุรักษ์กระเทียมไทยให้เป็นเอกลักษณ์

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กระเทียมไทย มีแหล่งปลูกสำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ โดยในปี 2561 พื้นที่เพาะปลูก 3 จังหวัด (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน) รวม 61,183 ไร่ (ร้อยละ 71 ของพื้นที่ปลูกกระเทียมทั้งประเทศ) ให้ผลผลิตรวม 71,547 ตัน (ร้อยละ 79 ของผลผลิตทั้งประเทศ) โดยผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ซึ่งนอกจากกระเทียมจะเป็นพืชอาหารที่สำคัญและมีคุณประโยชน์ด้านยารักษาโรคแล้ว ยังเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรมาโดยตลอด ดังนั้น ภาครัฐ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการ นอกเหนือจากบทบาทผู้ปลูก เพื่อจะได้วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดได้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตโดยขายแบบมัดจุกตัดแต่งแทนการขายเหมายกสวน และสร้างความตระหนักให้แก่เกษตรกร ได้เข้าใจถึงความต้องการของผู้ใช้และพฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นต้น ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตการตลาดของกระเทียมในพื้นที่ภาคเหนือ สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 053 121 318-19 หรือ อีเมล zone1@oae.go.th

……………………………………………

ข่าว  :  ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่