วันที่ 7 ตุลาคม 2566 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับมอบหมายจาก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นประธานงานแถลงข่าวการดำเนินโครงการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ณ บริเวณข่วงเมืองน่าน (ข่วงน้อย) ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จับมือ มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์ฯ ลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการบริหารจัดการโครงการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า) เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก โดย หอศิลปวัฒนธรรมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมประเพณี ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าน ทั้งนี้ จังหวัดน่านได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 4 ครั้ง เพื่อให้โครงการดังกล่าว เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในจังหวัดน่าน และผู้สนใจทั่วไป โดย คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 รับทราบและเห็นชอบการดำเนินโครงการดังกล่าว
สำหรับหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก เป็นอาคารที่ได้ออกแบบให้คงอัตลักษณ์ของจังหวัดน่าน ประกอบด้วย ลักษณะหลังคาจั่วซ้อนสองชั้น หน้าบันด้วยลายฉลุมีการประดับตกแต่ง/ปูนปั้น สรไน หน้ามุกมีเอกลักษณ์ที่สามารถสื่อได้ถึงหน้ามุกศาลากลางจังหวัด โดย มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์ฯ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด และยังสนับสนุนการบริหารเงิน บุคลากรในการบริหารจัดการ โดยไม่ใช้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อให้หอศิลปวัฒนธรรมฯ สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของราชการ รวมทั้ง การสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เยาวชนจังหวัดน่าน ทุกพื้นที่ ได้เกิดการเรียนรู้ การส่งเสริมศักยภาพด้านดนตรี ด้านภาษา ด้านอาชีพ และด้านการดำรงชีวิต ตลอดจนประชาชนทุกช่วงวัยก็สามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง
การแถลงข่าวการเริ่มดำเนินโครงการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก เกิดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนในจังหวัดน่าน เกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว โดยมีภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 2 ปี เพื่อเป็นศูนย์กลางที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน เป็นสถานที่ศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความหลากหลายทางศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีอันงดงาม และส่งเสริมการเรียนรู้ในสรรพวิชาการต่าง ๆ และพัฒนาเมืองน่านอย่างยั่งยืนต่อไป