วันที่ 5 ตุลาคม 2566 นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายณรงค์ วงศ์จันทร์ทิพย์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 และเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการ จัดการประชุมและให้ข้อแนะนำนวัตกรรมการทำนาเปียกสลับแห้งแก่กลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรกรพื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่โก๋น ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ณ ศาลาวัดม่วงถ้อย หมู่ที่ 7 ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และขอความร่วมมือประชาชนและเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์เอลนีโญ ที่กำลังจะมาถึงตามนโยบายของกรมชลประทาน โดยนำนวัตกรรมการปลูกข้าวแบบนาเปียกสลับแห้ง มาแนะนำและให้ความรู้กับเกษตรกรในพื้นที่ให้ได้รับประโยชน์สูงสุด และยังเป็นการช่วยประหยัดน้ำ
จากรายงานกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ่ ทำให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งได้ แม้ว่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้จะยังมีฝนตกอยู่ แต่ยังคงมาตรการเร่งสำรองน้ำเพื่อให้ใช้ในด้านอุปโภค บริโภค การผลิตน้ำประปา และการเกษตร รวมถึงรักษาระบบนิเวศให้มากที่สุดก่อนสิ้นสุดฤดูฝนนี้ ดังนั้นการนำเสนอนวัตกรรมการทำนาเปียกสลับแห้งให้กับพี่น้องเกษตรกรได้รับทราบ นอกจากจะประหยัดน้ำจากการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้แล้ว ยังช่วยลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยและใช้ยาฆ่าหญ้าอีกด้วย ขณะเดียวกันก็ได้แนะนำเรื่องของการปลูกพืชใช้น้ำน้อยให้กับเกษตรกร เพื่อที่ในช่วงฤดูแล้งเกษตรกรสามารถเพาะปลูก สร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง หลังจากนี้ โครงการชลประทานเชียงใหม่ เตรียมขยายผลไปยังเกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่อื่นต่อไป
ด้านนายศรีทอน คำหนัก อายุ 53 ปี เกษตรกรหมู่ที่ 10 ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การทำนาเปียกสลับแห้งนั้น ตนได้ดำเนินการตามที่ทางชลประทานได้แนะนำมา ซึ่งเป็นโครงการที่ทำมาอย่างต่อเนื่องและเห็นผลได้เป็นอย่างดีในด้านการประหยัดน้ำ ข้อดีของการปลูกข้าวแบบนาเปียกสลับแห้ง คือการประหยัดน้ำ ประหยัดปุ๋ย ประหยัดยาฆ่าหญ้า ทำให้ลดต้นทุนในการปลูกได้ ชาวนาก็ทำแบบดั้งเดิม ถ้าข้าวเกิน 1 เดือนหญ้าก็จะขึ้น แต่หากข้าวไม่ถึงเดือนเมื่อมีการปล่อยน้ำท่วมไปสักระยะ
ก็จะเป็นการป้องกันหญ้าขึ้น ทำให้เกษตรกรลดรายจ่ายค่ายาฆ่าหญ้าไปได้ เพราะค่ายาก็แพง ค่าปุ๋ยก็แพง เมื่อเทียบกับการปลูกแบบปกติ 1 ไร่ จะได้ประมาณ 1,000 กิโลกรัม แต่หากปลูกแบบนาเปียกสลับแห้งจะได้สูงถึง 1,100 – 1,200 กิโลกรัม ก็ทำให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อยากให้ทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 ช่วยแนะนำความรู้เพิ่มเติมให้กับเกษตรกรให้มากขึ้นด้วย