Key Highlights
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. ขยายตัว 0.30%YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 0.88%YoY จากหมวดอาหารสดที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 22 เดือนที่ -1.3%YoY ตามราคาเนื้อสุกรและราคาผักสดที่ลดลง และหมวดพลังงานซึ่งชะลอตัวลงจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.63%YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาน้ำมันพืชและราคาอาหารบริโภคภายในบ้านที่ปรับลดลง เป็นต้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 9 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 1.82%
- Krungthai COMPASS ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้มีแนวโน้มอยู่ที่ 1.5% ส่วนหนึ่งจากราคาพลังงานที่ปรับลดลงตามนโยบายของภาครัฐ ทั้งการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้าลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 และนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูง โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2565 ภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาจากราคาหมวดพลังงานประมาณ 45%
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. อยู่ที่ 0.30% ชะลอลงจากหมวดอาหารสดและพลังงาน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. ขยายตัว 0.30%YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.88%YoY และต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 0.8% [1]จากหมวดอาหารสดและหมวดพลังงาน โดยราคาอาหารสดหดตัวครั้งแรกในรอบ 22 เดือนที่ -1.3%YoY ตามราคาเนื้อสุกรที่ลดลงเนื่องจากปริมาณเนื้อสุกรในระบบเพิ่มขึ้น และราคาผักสดที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ราคากลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งขยายตัวเร่งขึ้น 4.58%YoY จากเดือนก่อนที่ 2.46%YoY สำหรับหมวดพลังงานขยายตัว 1.21%YoY ชะลอลงจากเดือน ส.ค. ที่ 2.58%YoY จากการปรับลดลงของค่ากระแสไฟฟ้า และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.63%YoY ชะลอลงเทียบกับ 0.79%YoY ในเดือนก่อน จากราคาเครื่องประกอบอาหารที่หดตัวต่อเนื่องตามราคาน้ำมันพืชที่ลดลง ราคาอาหารบริโภคในบ้านตามราคาอาหาร delivery บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 9 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 1.82% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.50%
Implication:
- อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้จากมาตรการลดราคาพลังงาน โดยรัฐบาลได้มีนโยบายปรับลดค่ากระแสไฟฟ้าลง 0.46 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 (จากเดิม 4.45 บาทต่อหน่วย ในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค. 66) ซึ่งลดลงราว 15% และมีนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร (จากเดิมที่ 32 บาทต่อลิตร) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.–31 ธ.ค. 66 มาตรการลดราคาพลังงานเหล่านี้จะเป็นการช่วยลดภาระ
ค่าครองชีพของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูง โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2565 ภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมาจากราคาพลังงานประมาณ 45% ของภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น Krungthai COMPASS ประเมินว่ามาตรการลดราคาพลังงานของภาครัฐจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ลดลง 0.2pp และทำให้อัตราเงินเฟ้อปี 2566 อยู่ที่ 1.5% อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มกลับมาสูงขึ้นจากอุปทานที่ตึงตัวส่งผลให้ภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มติดลบมากขึ้น ข้อมูล ณ วันที่ 1 ต.ค. 2566 ติดลบสูงถึง 6.5 หมื่นล้าน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อราคาน้ำมันภายในประเทศที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในปี 2567 หากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐสิ้นสุดลง นอกจากนี้ความเสี่ยงจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร โดยจะเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราเงินเฟ้อปี 2567 มีแนวโน้มเร่งตัวเพิ่มขึ้น
[1] อ้างอิงจาก Reuter Polls (as of October 2023)