วันที่ 4 ตุลาคม 2566 เวลา 11.00 น. ที่ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) แถลงข่าวการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญ ภายหลังประชุมผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่า กระทรวง พม. จะทำงานในเชิงรุก โดยขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวานนี้ ณ ห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองแห่งหนึ่ง นั้น ทางกระทรวง พม. ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราจะทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ เพื่อเยียวยาสภาพจิตใจ ซึ่งจากนี้ไปความสำคัญในการทำงานของกระทรวง พม. จะมีทั้งในมิติของการเยียวยาและการป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต กลไกของกระทรวง พม. นั้น มีความสำคัญ โดยจะมีนักสหวิชาชีพและนักจิตวิทยา เข้าไปพูดคุยกับแต่ละเคสที่เกิดขึ้นคือหัวใจสำคัญของการป้องกันผลกระทบทางจิตใจที่จะเกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ
นอกจากนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้สั่งการให้ทีมสหวิชาชีพและนักจิตวิทยาเข้าไปเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับผู้ก่อเหตุยังเป็นเด็ก การที่จะเข้าไปพูดคุยหรือสอบปากคำนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักจิตวิทยา ทีมสหวิชาชีพ ทนาย หรือผู้ที่เด็กร้องขอให้อยู่ร่วมด้วย ซึ่งทุก ๆ ขั้นตอนในการพูดคุยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบุคคลเหล่านี้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนเงื่อนไขเหล่านี้ไม่ใช่แค่ที่ประเทศไทย แต่เป็นกติกาสากลทั่วโลกที่มีการบังคับใช้ภายใต้กติกาของสหประชาชาติ ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้จัดนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิ อาญา เข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทีมสหวิชาชีพ เพื่อสอบข้อเท็จจริงผู้ก่อเหตุที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี โดยเข้าไปที่เกิดเหตุตั้งแต่เวลา 20.30 น. ของคืนวานนี้ และนักจิตวิทยาได้อยู่กับเคสตลอด และทุกช่วงเวลาในเรื่องการดำเนินคดีจะคอยประกบอยู่กับเคสตลอด ทั้งการเข้าพบตำรวจและเจ้าหน้าที่ศาล
นายวราวุธ กล่าวไปว่า นอกจากนี้ เหตุความรุนแรงเมื่อวานนี้ ได้ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ ทั้งที่อยู่ในเหตุการณ์และไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ รวมถึงประชาชนที่ได้รับรู้ข่าวสาร อาจจะเกิดความเครียดหรือได้รับผลกระทบทางจิตใจจากข่าว ตนขอเน้นย้ำว่าศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวง พม. สายด่วน โทร. 1300 ให้บริการ 24 ชั่วโมง จะมีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ซึ่งเป็นทีมสหวิชาชีพ ที่พร้อมรับเรื่อง ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทุกคน นอกจากนี้ ขอความร่วมมือไม่ส่งต่อภาพความรุนแรง และไม่ส่งต่อข้อมูลของผู้ก่อเหตุและครอบครัว เพราะจะก่อให้เกิดความเกลียดชัง เกิดความหดหู่ในสังคมไทย และจะเป็นการซ้ำเติมต่อเหตุการณ์ ซึ่งตนเชื่อว่าเช้านี้ บางคนจิตใจห่อเหี่ยวจิตตกจากการเสพข่าวมากเกินไป ขออย่าซ้ำเติมสังคมไทยที่มีความบอบช้ำจากปัญหาต่าง ๆ ซึ่งคนที่จะช่วยเรื่องนี้ได้ดี นอกจากกระทรวง พม. แล้ว คือสื่อมวลชน โดยขอความกรุณาเสนอข่าว ด้วยการใช้คำพูดในการพาดหัว การโปรยข่าว ด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้สังคมได้รับผลกระทบมากเกินไป
นายวราวุธ กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ การที่จะทำให้ครอบครัวกลับมาอบอุ่น ไม่ใช่คนในสังคมก้มหน้าเล่นมือถือ ไม่มีการพูดคุยกัน วันนี้ กระทรวง พม. จะปรับเปลี่ยนค่านิยมต่างๆ ทำให้ลูกหลานได้กลับมาสู่ครอบครัวใหม่ ทำให้ครอบครัวได้กลับมาสู่สังคมใหม่ และคืนสังคมที่อบอุ่นที่ดีเหมือนเมื่อก่อนให้กับประเทศไทยอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขอฝากผู้ปกครองด้วยว่า เนื้อหาที่ลูกหลานเสพอยู่ ผ่านสื่อต่างๆ เป็นอย่างไร อย่าโทษการ์ตูน โทษสื่อ เราต้องกลับมาดูว่าในครอบครัวมีการเฝ้าระวังลูกหลานอย่างไร มีการจำกัดการเข้าถึงสื่อเหล่านั้นอย่างไร และขอฝากถึงหน่วยงานภาครัฐว่าจะต้องมีการกรอกเนื้อหาที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
นายวราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ ตนคิดว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องมีระบบการแจงเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Broadcast) เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุได้ระวังตัว เพราะบางครั้ง เมื่อเดินเข้าห้างสรรพสินค้า เรายังได้รับข้อความโปรโมชั่นต่างๆ ดังนั้น เมื่อภาคเอกชนทำได้ ภาครัฐก็คงไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรง เชื่อว่าไม่มีอะไรที่เทคโนโลยีปัจจุบันทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ทราบว่าหน่วยงานใดจะเป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบอาจจะกำลังคิด และดำเนินการอยู่ก็ได้ แต่ถ้าคิดไม่ออกว่าใครจะเป็นเจ้าภาพ กระทรวง พม. จะเป็นเจ้าภาพให้ เพียงแค่จัดสรรงบประมาณมาให้ ซึ่งจะคอยติดตามว่ามีการดำเนินการหรือไม่ ถ้ายังไม่มี เชื่อว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารหน้าจะมีการพูดคุยเรื่องนี้
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมานั้น กระทรวง พม. ทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่ทำงานเพียงฉาบฉวย มีข่าวทางหน้าสังคมแล้วหายไป ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น เราจะเข้าไปเยียวยาสถานการณ์ได้อย่างไร บทบาทของกระทรวง พม. จากนี้ไป เราจะต้องสื่อให้สังคมเข้าใจว่าการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ด้านสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือสหวิชาชีพ ภายใต้การดูแลของกระทรวง พม. นั้น เราได้ทำงานอะไรไปบ้าง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวานนี้ นับเป็นเหตุการณ์ตัวอย่างที่สำคัญ โดยจะเน้นว่าบริบทของสังคมไทยจากนี้ไป ต้องได้รับความสนใจในบริบทของสถาบันครอบครัวมากขึ้น นับเป็นการบ้านสำคัญ ซึ่งตนได้สั่งการให้ ปลัดกระทรวง พม. และอธิบดีทุกกรม เร่งทำงานในเชิงรุก ซึ่งหัวใจการทำงานที่สำคัญของกระทรวง พม. ในวันนี้ คือ กระทรวง พม. จะต้องเป็นหนึ่งเดียว การทำงานจะต้องเป็นองคาพยพเดียว ทั้งในส่วนของกรม รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน จะต้องเดินไปด้วยกัน ดังนั้น การทำงานของกระทรวง พม. จากนี้ไป กรมเดียวไม่สามารถที่จะทำงานได้ ต้องทำงานในลักษณะ พม. หนึ่งเดียว
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม
#กระทรวงพม #รมวพม #รับฟังทำจริง