นายกรัฐมนตรี ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ กำชับกรมชลประทาน เร่งช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย

วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ VDO conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และสำนักเครื่องจักรกล ในการนี้ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าที่ร้อยตรี ธนสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมดังกล่าว

จากปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทย ทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง อาทิ

ลุ่มน้ำวัง เนื่องจากปริมาณน้ำในลุ่มน้ำวังเพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่ง ส่งผลกระทบกับจังหวัดลำปางและตากบางส่วน แนวโน้มสถานการณ์ลดลง โดยกรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ลุ่มน้ำยม-น่าน ฝนที่ตกหนักในพื้นที่จังหวัดแพร่ ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำยมเพิ่มสูงขึ้น ก่อนจะไหลลงสู่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเริ่มมีผลกระทบแล้วบางส่วน กรมชลประทาน ได้ผันน้ำแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน เพื่อรักษาระดับน้ำในแม่น้ำยม โดยการจัดจราจรน้ำผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) บ้านหาดสะพานจันทร์ ก่อนจะผันออกไปทาง ปตร.หกบาท เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำยมสายเก่าและคลองยม-น่าน ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังได้ผันน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำที่สามารถรับน้ำได้ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ปัจจุบันมีน้ำในทุ่งประมาณ 201 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพตามแผนบริหารจัดการน้ำที่กำหนดให้พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำเป็นที่รับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำยม

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์ (สถานี C.2) ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการจัดจราจรน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยส่วนหนึ่งจะรับน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อเก็บกักน้ำ โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ริมคลองและสามารถรองรับฝนที่อาจตกลงมาในพื้นที่ได้อีก และจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้น้อยที่สุด

ลุ่มน้ำชี-มูล พื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำชีปริมาณน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ทำการหน่วงน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำให้มากที่สุด ส่วนในพื้นที่แม่น้ำชีตอนล่างยังคงมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร แต่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ลุ่มน้ำมูล ยังคงมีน้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากมีปริมาณน้ำล้นตลิ่งบริเวณสถานี M.7 อำเภอวารินชำราบ โดยปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันยังสามารถระบายน้ำได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กรมชลประทานเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในระยะนี้ยังคงมีฝนตกหนักในหลายจังหวัด พร้อมให้ตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ อาคารชลประทาน ให้มีความพร้อมใช้งานได้ตลอดช่วงฤดูน้ำหลากนี้ รวมถึงให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่รับทราบสถานการณ์น้ำล่วงหน้า พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกัน เข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ให้ได้มากที่สุด จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ