วธ.จัดงาน “วันภาษาไทยแห่งชาติ” มอบรางวัลเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคล–เยาวชน-ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น–เพชรในเพลง

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ที่ห้องโถง ชั้น 1 กระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานในงานแถลงข่าวงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2562 โดยมี นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายอิทธิพล กล่าวว่า วธ.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยปีนี้กำหนดจัดกิจกรรมในวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ทรงห่วงใยการใช้ภาษาไทยของคนไทย และเพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรมที่ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย ซึ่งพระองค์ได้ทรงร่วมอภิปรายเรื่อง ปัญหาการใช้คำไทย ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 และต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติด้านภาษาและวรรณกรรม รวมถึงส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชน และเพื่อสนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทและสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงสนพระราชหฤทัยและมีพระปรีชาด้านการประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองเป็นที่ประจักษ์ ทรงสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานวรรณกรรมของชาติ ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลสร้างสรรค์วรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือรางวัลซีไรท์ และทรงห่วงใยเยาวชนของชาติด้านการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ตลอดจนการรักษาขนบประเพณีอันดีงามของไทย

เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น  ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นั้น ในปีพุทธศักราช 2562 ผู้ทรงคุณวุฒิได้คัดเลือกบุคคล ผู้ผดุง สร้างสรรค์และถ่ายทอดการใช้ภาษาไทยเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง ผู้มีผลงานการสร้างสรรค์ด้านการใช้ภาษาไทย หรือภาษาไทยถิ่น ได้อย่างเหมาะสม และบุคคลหรือองค์กรที่มีบทบาทส่งเสริม สนับสนุน ศึกษา และสร้างคุณประโยชน์ต่อวงการภาษาไทยหรือภาษาไทยถิ่นอย่างต่อเนื่องเป็นที่ประจักษ์ ดังนี้

1.ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย 1 ราย ได้แก่ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์

2.ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น 17 ราย

คนไทย 15 ราย ได้แก่ นายกรนันสักก์ ตั้งหทัยชูหิรัญ, นายกฤษฎา สุนทร, นายคารม ธรรมชยาธร, แพทย์หญิง ชัญวลี ศรีสุโข, นายธีระ ธัญไพบูลย์, นายบุญมา ศรีหมาด, รองศาสตราจารย์ปรมินท์ จารุวร,    นายภาสวัฒก์ บุญจันทร์, รองศาสตราจารย์ยุรฉัตร บุญสนิท, รองศาสตราจารย์เรไร ไพรวรรณ์, นางวโรกาส มังกรพิศม์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์วัลยา ช้างขวัญยืน, นายวิษณุ พุ่มสว่าง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ คู่ทวีกุล, นายอดิสรณ์ พึ่งยา

ชาวต่างประเทศ 2 ราย ได้แก่ น.ส.เจือง ถิ หั่ง (Ms.Truong Thi Hang) และนายอเล็กซ์ซานเดอร์ วิลส์ (Mr. Alexander Wills)

3.ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น 12 ราย

คนไทย 9 ราย ได้แก่ นายดำรงศักดิ์ บุญสู่, นายดุสิต เชาวชาติ, นายปั่น นันสว่าง, พระครูสีลสาราภรณ์ (สมสิทธิ์ รกฺขิตสีโล), นายมนตรี คงแก้ว, นายเมตต์ เมตต์การุณจิต, นางยินดี ตรีรัญเพชร, รองศาสตราจารย์วีณา วีสเพ็ญ และ นางอบเชย ศรีสุข

ชาวต่างชาติ 3 ราย ได้แก่ นายคริสโตเฟอร์ เชฟ (Mr. Christopher Chaafe) ,นายมาร์ติน วีลเลอร์ (Mr. Martin Wheeler) และนายอุดม สุขเสน่ห์ (Mr. Allen Robert Dean Long)

4.ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประกอบด้วย

ประเภทบุคคล ได้แก่ รองศาสตราจารย์สืบพงศ์ ธรรมชาติ

ประเภทองค์กร ได้แก่ กลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ,ชมรมโจ๊กปริศนาพนัสนิคม และ ศุมาสถาบันภาษาและวัฒนธรรม

ส่วนรางวัลเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน พุทธศักราช 2562 10 ราย ดังนี้ นายกุมภารักษ์ น้อยคำ โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จ.เพชรบุรี, น.ส.จันทิมา จิตนิยม โรงเรียนบ้านไร่พิทยาคม จ.สุโขทัย, นายชินวัฒน์ อรัญทม โรงเรียนกำแพง จ.ศรีสะเกษ, นายโชคชัย พลธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ, นายต่อพงศ์ เชื้ออุ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น, นายธีระวัฒน์ ชูรัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายภูริวัฒน์ เขนย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่, นายรณชัย หวังกวดกลาง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จ.สุรินทร์, น.ส.วรรณธิดา สามสี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จ.ภูเก็ต และนายสมชาย ทุนมาก มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศรางวัลการประกวดเพลง เพชรในเพลง 12 รางวัล ดังนี้

1.รางวัลเชิดชูเกียรติ ประกอบด้วย รางวัลเชิดชูเกียรติศิลปินเพชรในเพลง ได้แก่ น.ส.ธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร) ,รางวัลเชิดชูเกียรตินักร้องเพลงอมตะ ได้แก่ เรือเอกหญิงสมศรี ม่วงศรเขียว ,รางวัลเชิดชูเกียรติรายการโทรทัศน์ส่งเสริมภาษาและศิลปวัฒนธรรมไทย ได้แก่ รายการคุณพระช่วย ,รางวัลเชิดชูเกียรติวงดนตรีสร้างสรรค์ภาษาไทยในเพลง ได้แก่ วงดิอิมพอสซิเบิ้ล

2.รางวัลประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่ รางวัลชนะเลิศผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล ได้แก่ เพลงให้รักเป็นคำตอบ ผู้ประพันธ์ นายสุทธิพงษ์ สมบัติจินดา ,รางวัลชนะเลิศผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ เพลงเหงาจนเงาหนี ผู้ประพันธ์ นายพงษ์ศักดิ์ พงษ์สุวรรณ (เท่ง เถิดเทิง) ,รางวัลชนะเลิศผู้ประพันธ์คำร้องเพลงเพื่อชีวิต ได้แก่ เพลงสำนึก ผู้ประพันธ์ นายพงษ์สิทธิ์ คัมภีร์

3.รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่ รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย ได้แก่ เพลงกลับมาตรงนี้ ผู้ขับร้อง นายอุเทน พรหมมินทร์ ,รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง ได้แก่ เพลงเพลงพรแผ่นดิน ผู้ขับร้อง น.ส.ณัฐธิกา เอี่ยมท่าไม้ ,รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ได้แก่ เพลงตำนานอโยธยา ผู้ขับร้อง นายธนพล สัมมาพรต (แจ๊ค ธนพล),รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง ได้แก่ เพลงหอบฝันสู่เมืองใหญ่ ผู้ขับร้อง น.ส.พลอยชมพู ลอมเศรษฐี (ปะแป้ง พลอยชมพู) และรางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตชาย ได้แก่ เพลงเช’๒๐๑๘ ผู้ขับร้อง นายยืนยง โอภากุล

นอกจากนี้ มีการจัดนิทรรศการปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทยและเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการอ่าน การเขียน การพูด พุทธศักราช 2562 และนิทรรศการรางวัลเพชรในเพลง พร้อมกันนี้กรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือหายาก คือ หนังสือจินดามณี ฉบับหมอบรัดเล และหนังสือวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งได้รวมพิมพ์เรื่อง โบราณศึกษา ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) ไว้ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้ร่วมงานด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ปีนี้เป็นปีที่สามที่ วธ.ได้ประสานขอความร่วมมือไปยังสถานทูตประจำประเทศไทย โดยเชิญชวนเอกอัครราชทูต และผู้แทนสถานทูตแต่ละประเทศถ่ายทำวีดิทัศน์รณรงค์การใช้ภาษาไทย ซึ่งขณะนี้มีสถานทูตหลายประเทศส่งวีดิทัศน์ร่วมกิจกรรม เช่น อเมริกา อังกฤษ อิสราเอล และซูดาน เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญคือเสริมสร้างความสัมพันธ์เกียรติภูมิและภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อนำความเป็นไทยสู่สากล และจะมอบเกียรติบัตรให้แก่สถานทูตที่ร่วมกิจกรรมด้วย

นอกจากนี้ มีกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2562 ในส่วนกลาง มีกิจกรรมได้แก่ วันที่ 23 กรกฎาคม 2562 การบรรยาย “ฉันทลักษณ์ไทยที่ถูกต้องตามแบบแผนของไทยแต่โบราณ” วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 สัมมนาทางวิชาการ “เมื่อดอกไม้บาน…ในสวนขวัญวรรณศิลป์” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 การบรรยายวิชาการ “ภาษาไทยที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และเสวนาวิชาการ “ภาษาไทยในกระแส 4.0” ณ โรงแรมรามา  การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ และเสวนา“ภาษาไทย ภาษาเพลง ร้องบรรเลงบนสื่อออนไลน์” ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ขณะที่ส่วนภูมิภาคมีกิจกรรม ได้แก่ วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 การเสวนาวิชาการ “อิทธิพลของภาษาและวรรณคดีบาลีสันสกฤตที่ต่อภาษาและวรรณคดีไทย” ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รวมถึงมีกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ การประกวดพูดเชิงสร้างสรรค์ “ภาษาไทยถิ่นใต้:อัตลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ครั้งที่ 2 วันที่ 3-26 กรกฎาคม 2562 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การประกวดงานเขียนเรื่องเล่าจากบ้านเราใน 4 จังหวัดภาคใต้ คือ สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ระหว่างเดือนมกราคม – สิงหาคม 2562 การประกวดทำนองเสนาะระดับอุดมศึกษา “ขับภาพ อ่าน ร้อง ซ้องถวาย” วันที่ 29 กรกฎาคม 2562 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น