ในปี พ.ศ. 2566 สำนักเลขาธิการอาเซียน ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกคัดเลือกสถานประกอบการ ประเภทโรงแรม เพื่อเข้ารับรางวัลมาตรฐานโรงแรมสีเขียวอาเซียน (ASEAN GREEN HOTEL STANDARD) และคัดเลือกหน่วยงานระดับเมืองและเทศบาล เพื่อเข้ารับรางวัลมาตรฐานเมืองท่องเที่ยวสะอาดอาเซียน (ASEAN CLEAN TOURIST CITY STANDARD) และรางวัลการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอาเซียน ภายใต้แนวคิดประจำปี พ.ศ. 2566 คือ “Gastronomy Tourism Theme” กรมการท่องเที่ยว จึงได้จัดการประชุมคณะกรรมการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวอาเซียน ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเป็นกรรมการฯ ได้แก่ อพท. กรมการพัฒนาชุมชน กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย และสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566
ทั้งนี้ ผลจากการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานโรงแรมสีเขียวอาเซียน มีสถานประกอบการประเภทโรงแรมที่ผ่านการตรวจประเมินฯ จำนวน 25 แห่ง จากภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ที่ตั้งอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองท่องเที่ยวรอง ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ พังงา และภูเก็ต โดยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการและการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีระบบการกำจัดขยะ การใช้พลังงาน คุณภาพน้ำ การจัดการน้ำเสียและบำบัด และการจัดการขยะมีพิษและขยะอันตราย เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการให้ความสำคัญในเรื่องความร่วมมือกับชุมชนและองค์กรท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตของการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
สำหรับเมืองท่องเที่ยวสะอาดอาเซียนที่ผ่านการตรวจประเมินฯ ได้แก่ เทศบาลเมืองอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี เทศบาลเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเทศบาลเมืองชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งหลักเกณฑ์ที่สำคัญในการพิจารณามาตรฐานเมืองท่องเที่ยวสะอาดอาเซียน คือ การจัดการสิ่งแวดล้อม ความสะอาด พื้นที่สีเขียว การจัดการของเสีย สิ่งอำนวยความสะดวก และด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2566 สำนักเลขาธิการอาเซียน ได้ริเริ่มรางวัลการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอาเซียน ภายใต้แนวคิด Gastronomy Tourism โดยมีหน่วยงานที่ผ่านการตรวจประเมิน คือ เทศบาลเมืองเพชรบุรี และเมืองเก่าสงขลา จังหวัดสงขลา สำหรับประเภทเขตเมือง (Urban Product) และเทศบาลตำบลสรรพยา จังหวัดชัยนาท และองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ จังหวัดสงขลา
นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า “เป็นที่น่ายินดีว่า ในปี พ.ศ. 2566 ผู้ประกอบการ ประเภทโรงแรมที่พัก หน่วยงานองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับเทศบาลเมือง และองค์การบริหารส่วนตำบล มีความกระตือรือร้น และให้ความสนใจในการปรับตัวทางธุรกิจ การยกระดับการให้บริการ และการเตรียมความพร้อมของสถานประกอบการ พื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อรองรับการเดินทางมาเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แม้ว่าผู้ประกอบการ ชุมชน ท้องถิ่นเหล่านั้น จะเพิ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ได้ไม่นาน สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวไทยในอนาคตที่มุ่งสู่การเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและมีคุณภาพ หรือ Quality Tourism และยังสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA 78) ซึ่งได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนสังคมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงการเสนอให้อาเซียนสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่ออุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”
“กรมการท่องเที่ยว มีภารกิจหน้าที่โดยตรงในการสนับสนุน ส่งเสริม และยกระดับผู้ประกอบการ ชุมชน ท้องถิ่น ในการพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยว จึงพร้อมที่จะสานต่อและรับนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” อธิบดีกรมการท่องเที่ยวกล่าวทิ้งท้าย