วันที่ 21 กันยายน 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำภาชี โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา นายสาธิต อำลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างขนาดกลางที่ 13 และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปการดำเนินงาน ณ ที่ว่าการอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พื้นที่ลุ่มน้ำภาชี มีพื้นที่ประมาณ 1.665 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 8.64 ของพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของ อ.บ้านคา อ.สวนผึ้ง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี มีแม่น้ำลำภาชีเป็นแม่น้ำสายหลัก แต่เนื่องจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนที่เพียงพอ ในช่วงฤดูแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ประกอบสภาพพื้นที่มีความลาดชัน จึงทำให้ในช่วงฤดูฝนเกิดน้ำหลากลงยังพื้นที่ตอนล่าง สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินประชาชนเป็นอย่างมาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ตามพระราชดำริเมื่อวันที่ 9 เม.ย 2534 ที่ให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทางพื้นที่ตอนบน และก่อสร้างฝายทดน้ำในพื้นที่ตอนล่าง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำหลากและปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำภาชี
กรมชลประทาน จึงมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำลำภาชี ทั้งหมด 9 โครงการ แบ่งเป็นอ่างเก็บน้ำ 3 โครงการ อาคารทดน้ำ 6 โครงการ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 2 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคย อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ความจุ 24 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 10,000 ไร่ และอาคารทดน้ำบ้านชุกกระเพราพร้อมระบบส่งน้ำ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมดำเนินอีก 3 โครงการ ได้แก่
โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง ต.ตะนาวศรี ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งพื้นที่ประมาณ 39,000 ไร่ ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่โครและพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย
โครงการอ่างเก็บน้ำหุบไทรพร้อมระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ ต.สวนผึ้ง ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกองทัพ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อการเพาะปลูก พื้นที่กว่า 2,630 ไร่ ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้แก่พื้นที่หมู่ 5 บ้านถ้ำหิน ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอตลอดปี
และโครงการอาคารทดน้ำบ้านสวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง 1,200 ครัวเรือน และบรรเทาปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝน เพิ่มพื้นที่ชลประทานในเขตพื้นที่ต.สวนผึ้ง ต.ป่าหวาย ต.ท่าเคย ต.ตะนาวศรีได้ถึง 4,000 ไร่ โดยอาคารทดน้ำที่เหลืออีก จะสร้างห่างกันตามขั้นบันได เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง
ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 9 โครงการ จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ถึง 68,130 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักจากเดิม 44.89 ล้าน ลบ.ม. เป็น 94.89 ล้าน ลบ.ม. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และปศุสัตว์ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ยกระดับชีวิตที่ดีขึ้นอย่างถาวร