วันที่ 21 กันยายน 2566 นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานโครงการสัมมนาสรุปผลการดำเนินงานการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปี 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่มังคุด อ.ชะอวด ให้มีความรู้และเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐาน GAP รวมทั้งส่งเสริมให้โรงรวบรวมมังคุด อ.พรหมคีรี ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และมีการเชื่อมโยงตลาดเพื่อรับซื้อสินค้าที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง อีกทั้งยังสร้างความรู้ ความเข้าใจการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน (Q) การใช้ระบบตามสอบสินค้าเกษตรและอาหาร (QR Trace) ในพื้นที่แปลงใหญ่ส้มโอทับทิมสยาม อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ภายในงานมีกิจกรรมมอบใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้กับเกษตรกรแปลงใหญ่ที่ผ่านการรับรอง จำนวนทั้งสิ้น 89 ราย และสนับสนุนการแสดงเครื่องหมายรับรอง จำนวนทั้งสิ้น 31 ราย และจัดให้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช” โดยมีวิทยากรจากเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้แทน มกอช. เรื่อง มาตรการและกฎระเบียบของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น แหล่งจำหน่ายสินค้าคุณภาพ (องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร) ห้างโมเดิร์นเทรด (TOP Supermarket) และตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกมังคุด ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ปัญหาและอุปสรรค พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ให้ได้ราคาที่สูงขึ้นผ่านกิจกรรม Matching ตลาดพบผู้ผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายสินค้าได้ด้วยตนเอง และแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ
นอกจากนั้นยังได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานและเยี่ยมชมการบริหารจัดการแปลงปลูกมังคุด ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.ชะอวด และพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ส้มโอทับทิมสยาม อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และแนะนำการใช้งานระบบ QR Trace ในสินค้า เพื่อตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสินค้าเกษตรนั้น สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต
ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้ขานรับนโยบายของ รมว. กษ. ในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตมังคุดตกต่ำอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ร่วมบูรณาการระหว่างหน่วยงานกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรในพื้นที่ ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด มีคุณภาพได้รับการรับรอง สร้างโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงราคากันอย่างเป็นธรรม ผ่านกิจกรรม Matching ตลาดพบผู้ผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาด สนองต่อนโยบายรัฐบาลในเรื่อง“ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”