กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำ ลุ่มน้ำชี – มูล ลดผลกระทบประชาชน

วันที่ 20 กันยายน 2566 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา นายวิวัธน์ชัย คงลำธาร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา) นายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 นายสัมพันธ์ เดือนศิริรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี นายวสันต์ พรหมดีสาร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานร้อยเอ็ด และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง เพื่อติดตามสถานการณ์และการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล โดยมี นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนตกหนักในพื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำชี บริเวณจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันวันที่ 20 กันยายน 2566 ที่สถานีวัดน้ำแม่น้ำมูล M.7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 11 เซนติเมตร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 0.19 เมตร อัตราการไหล 2,205 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ลดลง

กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบ ด้วยการจัดจราจรน้ำในลุ่มน้ำชี-มูล โดยการผันน้ำเข้าไปเก็บไว้ตามแก้มลิงและแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ด้านพื้นที่ตอนปลาย ได้เร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนปากมูลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังคงต่ำกว่าแม่น้ำมูลประมาณ 41 ซ.ม. ทำให้การระบายน้ำจากมูลลงโขง ยังทำได้ดี

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บริเวณประตูระบายน้ำวัดเสนาวงศ์ อ.วารินชำราบ พร้อมเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชน รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องผลักดันน้ำประจำจุดที่บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร อ. พิบูลมังสาหาร เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์น้ำจากทางพื้นที่ตอนบน ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด วางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่จะตกลงมาเพิ่ม มีการใช้ระบบโทรมาตรติดตามระดับน้ำในแม่น้ำสายหลัก ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน และ 3 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ บูรณาการร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ช่วยบรรเทาและลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด