ชป. วางแนวบริหารน้ำเข้ม หลังเขื่อนหลักน้ำต้นทุนน้อย

กรมชลประทาน ผนึกอปท.วางแนวบริหารน้ำเข้ม หลังเขื่อนหลักน้ำต้นทุนน้อย หวังช่วยรักษาพื้นที่การเกษตรในช่วงฝนทิ้งช่วง1-2 เดือน

ดร.ทองเปลว กองจันทร์  อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ปัจจุบันมีประมาณ 1,514 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) นั้น ในขณะที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จึงได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานบริหารตามแนวทางของกรมอย่างเคร่งครัด โดยประสานกับร่วมมือกับกลุ่มผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)  เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประสิทธิภาพและประหยัดน้ำสำหรับประโยชน์ของภาคส่วน

สำหรับแนวทางการปฏิบัติ ประกอบไปด้วย 1. ให้ทุกโครงการชลประทานประสานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ปฏิบัติตามแผนส่งน้ำในแต่ละรอบเวรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้น้ำไปทั่วถึงเกษตรกรและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะรักษาพื้นที่เพาะปลูกคือนาข้าวที่ปลูกแล้วประมาณ 6.21 ล้านไร่ 2. กำชับให้สถานีสูบน้ำของ อปท.ทั้ง 339 แห่ง สูบน้ำตามรอบเวร ที่กรมชลฯได้วางแผนไว้เพื่อป้องกันการสูบนอกแผนงาน อันจะกระทบกับพื้นที่อื่น  3. สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่เป็นพื้นที่นาดอน ให้เจ้าหน้าที่สร้างความเข้าใจให้เกษตรกรชะลอการปลูกข้าวไปจนกว่าจะมีฝนปกติ เพื่อป้องกันความเสียหาย และ4. โครงการบางระกำโมเดล ที่กรมชลประทานได้ส่งเสริมให้ปลูกในเดือนเมษายน เพื่อให้เกี่ยวข้าวเสร็จก่อนน้ำหลาก ขณะนี้เก็บเกี่ยวหมดแล้ว โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ทราบว่า จะเริ่มงดส่งน้ำเพื่อการเกษตรตั้งแต่ 31 ก.ค. 62 ตามที่ได้วางไว้ และประสบความสำเร็จด้วยดีเช่นปีที่ผ่านมา

“ขณะนี้ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก มีประมาณ 1,560 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันระบายออกวันละ  45 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษานิเวศดันน้ำเค็มในช่วงน้ำทะเลขึ้นสูง รักษาระบบประปา เพื่อการเกษตร เพื่อการอุตสาหกรรม และอื่นๆ ซึ่งหากระบายปริมาณนี้เท่ากันทุกวัน และไม่มีฝนเลยอาจจะหมดใน 40 วันตามที่วิตก แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะมีฝนตกและน้ำไหลเข้าอ่างในแต่ละพื้นที่ ดังนั้น เมื่อทุกคนตระหนักจึงเป็นโอกาสที่ดี ที่ประชาชนจะร่วมกันประหยัดน้ำ ซึ่งในช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการระบายวันละ 40 ล้าน ลบ.ม. แต่ไม่ถึงเกษตรกรในบางพื้นที่ เพราะมีการลอบสูบน้ำ ไม่เป็นไปตามข้อตกลง จึงต้องเพิ่มการระบายเป็น 45 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาพื้นที่การเกษตรไม่ให้เสียหาย ต่างจากเหตุการณ์ช่วงเวลาเดียวกันปี 58 ขณะนั้นมีการส่งน้ำวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น เพื่อการบริโภคอุปโภคและงดส่งน้ำเพื่อการเกษตร แสดงให้เห็นว่าที่เหลือจาก 18 ล้าน ลบ.ม. เราส่งมาดูแลภาคเกษตร และวันนี้ขอความร่วมมือทุกฝ่ายเพื่อจะได้สบายปลอดภัยร่วมกัน” ดร.ทองเปลวฯกล่าว

สำหรับการปลูกพืชในเขตชลประทาน(นาปี)ปี 2562  ข้อมูล ณ  18 ก.ค. 62 แผนการเพาะปลูกทั้งประเทศข้าวนาปีรวม 16.21 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกแล้ว 11.23 ล้านไร่( 69%) ในส่วนพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาแผนการเพาะปลูกข้าวนาปี 7.65 ล้านไร่ ปัจจุบันปลูกแล้ว 6.21 ล้านไร่ (81.14%) ของแผน

ในส่วนของกรณีที่มีเกษตรกรในพื้นที่อ.ไทรงาม อ.ทรายทองวัฒนา กำแพงเพชร  และอ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร  ประมาณ 167 ราย ร้องขอให้ส่งน้ำช่วยเหลือ นั้น กรมชลประทานได้ให้ผู้รับจ้างหยุดการก่อสร้างประตูระบายน้ำ(ปตร.)วังบัว เพื่อส่งน้ำให้เกษตรกรบรรเทาความเดือดร้อน และให้สำนักชลประทานที่  4  นำเครื่องไฮโดรโฟ สูบน้ำจากคลองส่งน้ำสาย 2R MC ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง สูบน้ำเข้าทางระบายน้ำปากคลองชักน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว เพื่อให้เข้าโครงการฯวังบัวไม่น้อยกว่า 6 ลบ.ม.ต่อวินาที ไปจนถึง 31 ส.ค. 62  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างเทคอนกรีต 10 วัน จากนั้นจะส่งน้ำตามแผนที่กำหนด

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร โดยประจำไว้ที่สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ทั้งเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือ โดยเครื่องสูบน้ำทั้งประเทศจำนวน  1,935 เครื่อง  รถบรรทุกน้ำ106 คัน  เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆอีกกว่า 2,000 หน่วย

สำหรับการบริการจัดการน้ำในแต่ละปี  กรมชลประทานจะวางแผนให้สอดคล้องกับตามการคาดการณ์ของ กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์บริหารน้ำต้นทุนที่มีให้เป็นไปตามกิจกรรมการใช้น้ำของประเทศ คือการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และการอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อวันที่ 17 พ.ค 62  กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายฤดูฝนปี  2562 เริ่มวันที่ 20 พ.ค. 62 จะมีปริมาณฝนทั้งประเทศน้อยกว่าปี 61  และจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5-10%  โดยคาดการณ์ว่าจะมีฝนทิ้งช่วงปลาย มิ.ย.-กลาง ก.ค. 62 จากนั้นจะมีฝนตกชุกหนาแน่นกลาง ก.ค.-ก.ย. 62  และปลายปีคาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเข้าไทย  1 ลูก   จึงได้นำมาวางเป็นเกณฑ์บริหารน้ำในอ่างฯดังกล่าว

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์