ชป. ร่วมกับหลายหน่วยงานวางแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเมืองสุรินทร์

กรมชลประทาน เร่งช่วยเหลือชาวห้วยเสนง หลังจากมีชาวบ้านประมาณ 1,000 คน เดินทางไปที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยขนจอบ เสียม และบุ้งกี๋ เพื่อจะช่วยกันขุดลอกดินตะกอนในอ่างฯ ให้มีพื้นที่กักเก็บน้ำอย่างเพียงพอ เนื่องจากประสบกับปัญหาน้ำไม่พอใช้ นั้น

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ​ชี้แจงในกรณีที่เกิดขึ้นว่า กรมชลประทาน โดยผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่​ 8 และผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุรินทร์ ได้เข้าร่วมประชุมกับปลัดจังหวัดสุรินทร์  ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค และรองผู้บัญชาการ​กอง​กำลัง​สุรนารี เพื่อรับทราบสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง และหารือถึงแนวทางในการจัดการน้ำร่วมกัน เนื่องจากปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ด้วยสาเหตุฝนที่ตกน้อยบริเวณเหนืออ่างฯ ส่งผลให้มีน้ำไหลลงอ่างฯน้อยตามไปด้วย ​

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีข้อสรุปร่วมกัน โดยจะให้​ความ​สำคัญ​กับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค​เป็น​ลำดับ​แรก​ ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำประปาในเขตเมืองสุรินทร์ มีประมาณวันละ 33,000 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีแหล่งน้ำต้นทุน 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง และอ่างเก็บน้ำน้ำตา ซึ่งปริมาณน้ำที่มีอยู่สามารถใช้น้ำได้จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2562 นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้ด้วย คือ เหมืองหิน ที่อยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 12 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำในเหมืองประมาณ  20 ล้านลูกบาศก์เมตร ​ต้องใช้เครื่องสูบน้ำของกรมชลประทานและสำนักงานป้องกัน​และ​บรรเทา​สาธารณภัย​จังหวัด​ ในการสูบน้ำส่งไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ส่วนกรณีการเจาะบ่อบาดาล นั้น การประปาส่วนภูมิภาค จะดำเนินการเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ของการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 3 บ่อ ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าจะได้ปริมาณน้ำประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

สำหรับกรณที่มีชาวบ้านประมาณ 1,000​ คน ได้เตรียมอุปกรณ์และเดินทางมาเพื่อจะมาช่วยกันขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง นั้น ทางโครงการชลประทานสุรินทร์ ได้จัดหาจุดให้ขุดลอกในบริเวณที่อากาศไม่ร้อนอบอ้าวมากนัก พร้อมกับเตรียมน้ำดื่มไว้ให้บริการ​กว่า 1,000 ขวด​ อีก​ทั้ง ยังได้เชิญผู้แทนหน่วยงานราชการต่างๆ​ เข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทาง​แก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวแล้ว

ในส่วนของกรมชลประทาน ได้จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือขนาดใหญ่ ไว้ดำเนินการในจุดที่เป็นประโยชน์ เช่น รถบรรทุกน้ำ เพื่อสนับสนุนและส่งน้ำให้กับชาวบ้าน รถแม็คโครเพื่อช่วยขุดลอกในลำห้วยที่ชาวบ้านต้องการ ซึ่งชาวบ้านที่เดินทางมาต่างรู้สึกพึงพอใจ ทำให้สถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เต็มไปด้วยไมตรีจิตที่ดีต่อกัน

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์