วันที่ 19 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) มอบนโยบายการบริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ “พม. พอใจ : ให้ทุกวัยพึงใจใน พม.” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวรายงาน ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ร่วมรับฟังนโยบาย ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ พร้อมทั้งผ่านระบบถ่ายทอดสดออนไลน์
นายวราวุธ กล่าวว่า นโยบายการบริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ “พม. พอใจ : ให้ทุกวัยพึงใจใน พม.” ตนมีหัวใจสำคัญในการทำงาน 3 ข้อหลัก ประกอบด้วย
ข้อที่ 1 นับว่าที่สำคัญที่สุดคือ การทำงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ด้วยการทำงานรับใช้ประชาชน ไม่ยอมรับการคอรัปชั่น การทุจริตต่างๆ
ข้อที่ 2 การเป็นนักบริหาร ไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ นักสหวิชาชีพ ซึ่งหน้าที่ของตน คือ ทำงานเพื่อให้ทุกคนทำงานได้ง่ายขึ้น ดีขึ้น และเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อที่ 3 ทำได้จริง เกิดประโยชน์ โดยการขับเคลื่อนไปข้างหน้า (ปฏิบัตินิยม) ด้วยวิธีทำงาน “PSS” แม่นยำ (Precision) รวดเร็ว (Speed) สร้างความเปลี่ยนแปลง (Impactful Scale)
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ให้ความสําคัญกับความเท่าเทียมของประชาชนทุกกลุ่ม ด้วยการดูแลให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ด้วยสวัสดิการโดยรัฐ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการทํางานของกระทรวง พม. อีกทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ กระทรวง พม. ต้องดำเนินการถึง 8 เป้าหมายจากทั้งหมด 17 เป้าหมาย เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับสังคมไทย ซึ่งจะเป็นกรอบสําคัญในการกําหนดวิธีคิด แนวปฏิบัติในการทํางานของกระทรวง พม. ทั้งนี้ นโยบายการบริหารกระทรวง พม. ในวันนี้ จะเป็นกรอบการทำงานของทุกคนในกระทรวง พม. เพื่อให้กระทรวง พม. เป็นผู้นำและเป็นที่พึ่งของประชาชนทุกกลุ่มในการเข้าถึงโอกาสและการคุ้มครองทางสังคมที่นำไปสู่หลักประกันและความมั่นคงในชีวิต โดยมีการขับเคลื่อน 5 นโยบายสำคัญ ประกอบด้วย
1. นโยบายเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก จนถึงอายุ 3 ปี นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากของชีวิต โดยสิ่งที่เราจะทำและพัฒนา คือ สนับสนุนให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการคุ้มครองเด็กมากขึ้น ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บริหารจัดการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาท ให้ครอบคลุม ทั่วถึง และยกระดับศูนย์อนุบาลพัฒนาเด็กเล็กชุมชน เป็นต้น
2. นโยบายเด็กและเยาวชน เยาวชนคือวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ จำเป็นต้องสนับสนุนการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพของครอบครัวอุปถัมภ์ (Foster Care) เป็นที่พึ่งให้กลุ่มเปราะบางได้จริง และนำร่องโครงการศิลปะบำบัดสำหรับเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเยียวยาฟื้นฟูทางจิตใจ เป็นต้น
3. นโยบายคนทำงาน สำหรับวัยทำงาน โดยพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งการถือครองกรรมสิทธิ์และการเช่า ผลักดันโครงการบ้านตั้งต้นสำหรับผู้เริ่มทำงานใหม่ (First Jobber) พัฒนาเยาวชนสู่การเป็นผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ขับเคลื่อนโครงการเตรียมพร้อมสูงวัยก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ (Pre-aging) โดยเฉพาะการบริหารการเงิน และโครงการสร้างรายได้สมาชิกนิคมสร้างตนเอง เป็นต้น
4. นโยบายผู้สูงอายุ ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ซึ่งกระทรวง พม. จำเป็นต้องเข้ามาดูแลผู้สูงอายุให้มากขึ้น ด้วยการพัฒนาสวัสดิการสังคมต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ อีกทั้งจัดตั้งศูนย์พักฟื้นและเสริมพลังชีวิต (Rejuvenation Center) ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุชุมชน/ตำบล ศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุ และกองทุนพัฒนาชุมชรเพื่อผู้สูงอายุ สนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ เพื่อความมั่นคงในชีวิต เป็นต้น
5. นโยบายคนพิการและคนไร้ที่พึ่ง สิ่งแรกที่สำคัญที่สุด คือ การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 อีกทั้งยกระดับศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ร่วมกับองค์กรด้านคนพิการ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการ ปรับปรุงกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อให้เป็นที่พึ่งสำหรับคนพิการทุกกลุ่มจำนวน 2.2 ล้านคนทั่วประเทศ และขับเคลื่อนโครงการฝึกอบรมแรงงานหรือระบบการจับคู่งานกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายการบริหารกระทรวง พม. 100 วันแรก เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่าย เนื่องจากแนวการทำงานของกระทรวง พม. เป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อน ที่สำคัญคือเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยการบูรณาการของหลายหน่วยงานที่ต้องร่วมมือกัน ฉะนั้น จึงไม่มีปัญหาไหนเร่งด่วนไปมากกว่ากัน ทั้งมิติเรื่องของเด็กเล็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ สตรี ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ซึ่งแต่ละหน่วยงานของกระทรวง พม. จะดูแลคนแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน ดังนั้น เราจะขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ไม่จำเป็นว่า 100 วันจะต้องทำให้เสร็จ แต่ให้คำมั่นว่าภายใน 100 วัน ทุกอย่าง จะมีการเริ่มต้นอย่างแน่นอน
และวันนี้ เรามีคณะทำงานช่วยติดตามเร่งรัดนโยบายที่ได้มอบหมาย หากติดขัดปัญหาประการใด ตนและคณะทำงานจะเข้ามาช่วยให้ปัญหาเหล่านั้นได้รับการแก้ไข และทำให้งานของกระทรวง พม. เดินหน้าไปได้อย่างเต็มที่ เพราะท้ายที่สุดของเป้าหมายคือ การเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน บรรเทาความเดือดร้อน ด้วยกลไกต่างๆ ที่มี ซึ่งนโยบายต่างๆ จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนดีมากยิ่งขึ้น
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจใน พม#กระทรวงพม #รมวพม