กรม ทช. รับแจ้งพบลูกพะยูนเกยตื้น ท่าเรือเกาะมุกด์ จ.ตรัง เบื้องต้นเครือข่ายที่ผ่านการอบรมฯ เข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) ได้รับรายงานจากนายสันติ นิลวัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ว่า ในวันนี้ (17 กันยายน 2566) ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ได้รับแจ้งจากนายอะเหร็น พระคง ประธานชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เกี่ยวกับเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นลูกพะยูนเกยตื้นติดแห้งมีชีวิต บริเวณใกล้กับสะพานท่าเรือเกาะมุกด์ ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ห่างจากฝั่งประมาณ 500 เมตร ลูกพะยูนมีความยาวประมาณ 140 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 50 – 60 กิโลกรัม โดยเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเบื้องต้น จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และได้รับมอบอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นมีชีวิต จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ทำให้เครือข่ายฯ สามารถเคลื่อนย้ายลูกพะยูนกลับสู่บริเวณน้ำลึกได้สำเร็จ ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที

จากนั้น เจ้าหน้าที่ ศวอล. ได้นำเรือขนาด 23 ฟุต ไปยังเกาะมุกด์เพื่อสำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังการเกยตื้นซ้ำของลูกพะยูนตัวดังกล่าว โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) แบบ Multi-rotor จำนวน 2 เครื่อง บริเวณหน้าเกาะมุกด์ใกล้กับจุดที่พบการเกยตื้น จากผลการสำรวจพบพะยูนอยู่รวมกัน 1 ฝูง จำนวน 6 ตัว โดยมีพะยูนโตเต็มวัย 4 ตัว ลูกพะยูน 2 ตัว และพบว่าลูกพะยูนตัวดังกล่าวกลับสู่ฝูงได้สำเร็จ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศวอล. ได้ทำการเฝ้าระวังการกลับมาเกยตื้นซ้ำของลูกพะยูนตัวดังกล่าวในพื้นที่ต่อไป

ที่ผ่านมา กรม ทช. ได้ลงพื้นที่อบรมเครือข่ายอาสาสมัคร และชุมชนชายฝั่ง ตามข้อสั่งการของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากได้ทันท่วงที ผ่านการมีส่วนร่วมจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยกรม ทช. มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 นำนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือชีวิตสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำแก่เครือข่ายอาสาสมัคร และชุมชนชายฝั่ง ในการช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่สัตว์ทะเลหายากที่เกยตื้น ก่อนจะแจ้งเจ้าหน้าที่กรม ทช. ในพื้นที่ดำเนินการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากตามขั้นตอน

นอกจากนี้ กรม ทช. ได้จัดทำคู่มือและแผ่นพับการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเบื้องต้น พร้อมแจกจ่ายในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เพื่อสร้างความเข้าใจในการช่วยเหลือการเกยตื้นหรือการได้รับบาดเจ็บของสัตว์ทะเลหายากในพื้นที่ให้ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย “นายอภิชัย รรท.อทช. กล่าวทิ้งท้าย”