สสส. จับมือ ภาคีเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง จัดเวทีเสียงเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ส่งสัญญาณถึงทุกภาคส่วนร่วมสร้างสังคมลดการเข้าถึง ยาเสพติด เหล้า พนัน อุบัติเหตุ เร่งขยายพื้นที่สร้างสรรค์ 

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภาคีเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ปี 2566 ตอน “Youth Voice For Change” เสียงเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. มีจุดยืนในการป้องกันเยาวชนให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงทั้งบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด การพนัน ซึ่งนำมาซึ่งปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาความรุนแรง ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากรไทย ปี 2564 พบเยาวชน อายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่ 12.7% ลดจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 15.4% โดยมีนักสูบหน้าใหม่ที่สูบบุหรี่ไม่เกิน 1 ปี 211,474 คน ในจำนวนนี้ พบว่า 73.7% เริ่มสูบบุหรี่ช่วงอายุ 15-19 ปี ขณะเดียวกันมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 78,742 คน คิดเป็น 0.14% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวน 57 ล้านคน ส่วนการดื่มสุราในเยาวชนอายุ 15-24 ปี ปี 2547-2558 อัตราการดื่มอยู่ที่ 23.5%-29.5% ปี 2564 ลดเหลือ 20.9% หรือประมาณ 1.9 ล้านคน ทั้งยังพบการดื่มแล้วขับ 33.06% ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน บาดเจ็บและเสียชีวิตกว่า 25.09% ก่อความรุนแรง 24.7% เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด 17.2%

ขณะที่ปัญหาการพนันในปี 2564 พบว่ามีคนไทยต้องอยู่ท่ามกลางคนเล่นพนัน 59.6% ประมาณ 32 ล้านคน ในคนอายุ 15 ปีขึ้นไป เล่นพนัน 4.3 ล้านคน มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นปัญหา 6 แสนคน มีแนวโน้มเป็นนักพนันหน้าใหม่เพิ่มจาก 6.28 แสนคนในปี 2560 เป็น 7.95 แสนคน ในปี 2564 บางคนเป็นผู้ที่มีปัญหาครบทุกความเสี่ยง จากปัญหาสภาพปัญหาดังกล่าว สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายวางยุทธศาสตร์ในการรณรงค์แก้ไขปัญหา ทั้งงานด้านวิชาการ และการทำงานเชิงพื้นที่ เพื่อทำให้เกิดสังคมที่ห่างไกล ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

นางสาวศุภัทรา ภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายด้านเด็ก และเยาวชน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลมีนโยบายที่ปกป้องและลดผลกระทบกับเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยง เหล้า พนัน บุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด อุบัติเหตุและการคุกคามทางเพศ โดยประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนนโยบายเพิ่มพื้นที่เสี่ยงและโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ปกป้องเด็กและเยาวชนที่เติบโตเป็นอนาคตของชาติ 2.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนพื้นที่และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา ให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่ตนเองสนใจ และพัฒนาความรู้ ความสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ในการดำเนินชีวิต และไม่ปิดกั้นความหลากหลายทางเพศ 3. ขอให้รัฐบาลเร่งดูแลมาตรการเชิงป้องกันเด็กและเยาวชนจากกัญชาและกระท่อมเป็นการด่วน 4.ขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน เร่งจัดหาบุคลากรที่มีความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นมาช่วยดูแล ป้องกันแก้ไขทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบ เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของเด็ก เยาวชนในปัจจุบัน

ด้านนายวรวุฒ อมะรึก เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นทุกวัน สวนทางกับพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่แสดงออกที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ในสังคม จากวิกฤตการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา ทั้งวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ภัยพิบัติธรรมชาติ สื่อออนไลน์ วิกฤตการเมือง ความคิดเห็นต่างรุ่นต่างgen ทำให้เด็กๆ เกิดภาวะ learning loss การเรียนรู้ที่ถดถอยเรื่อยๆ เด็กเล็กหยุดอยู่บ้าน ติดจอติดมือถือ เพราะขาดการทำกิจกรรมนอกบ้าน มีภาวะน้ำหนักเกิน จากพฤติกรรมเนือยนิ่ง ภาวะเครียดสะสมจากการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เป็นโรคซึมเศร้านำมาสู่อัตราการจบชีวิตที่สูงขึ้น

“เมื่อมีพื้นที่แสดงออก หรือพื้นที่สร้างสรรค์มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจะช่วยปลุกพลัง ปลุกแสงในตัวเด็กเยาวชนให้ส่องประกายให้มีชีวิตชีวา ทำให้เด็กสามารถได้ลองทำ ลองเล่น เพื่อค้นหาตัวตนหรือความสามารถของตัวเอง รวมถึงได้แสดงความสามารถ เช่น การเล่นสเก็ตบอร์ด แม้จะมีลานสเก็ตบอร์ด แต่ไม่มีเงินซื้อ เด็กจะไม่สามารถค้นหาว่าตัวเองเก่งเรื่องนี้ ดังนั้นถ้ามีพื้นที่และมีอุปกรณ์ให้เด็กได้ลองใช้ในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ รวมถึงพื้นที่สร้างสรรค์ ต้องกระจายให้เด็กเยาวชนครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เด็กในเมืองและชนบทต้องเข้าถึงได้ง่าย และให้คุณค่าของคนในชุมชน ครูภูมิปัญญาเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้บนฐานชุมชนได้ เพราะเด็กเยาวชนไม่มีวันหยุดในการเรียนรู้ เด็กต้องได้เล่น ได้แสดงออก ได้ค้นหาประสบการณ์ใหม่ที่ท้าทายอยู่เสมอ ดังนั้น ทุกพื้นที่รอบตัวเด็กต้องเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ฉายแสงลดพื้นที่เสี่ยง” นายวรวุฒิ กล่าว

นายศุภวัฒน์ ไชยโกศ เยาวชนที่เคยก้าวพลาด อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า พ่อเป็นคนติดเหล้า กลับจากทำงานมาก็เมาตลอด เมาหนัก กลับมาบ้านก็ทะเลาะกับแม่ ทำร้ายแม่ ถ้าแม่ไม่อยู่ก็จะมาลงที่ผม พ่อใช้ความรุนแรงตลอด จึงกลายเป็นเด็กที่เก็บกดรับความรุนแรงที่เห็นทุกวันมาใช้ข้างนอกกับเพื่อน หรือคนอื่นๆ กลายเป็นเสพติดการใช้ความรุนแรง สร้างตัวตนการยอมรับจากเพื่อน ทำทุกวิธีให้เพื่อนยอมรับ จึงต้องไล่ตี ฟันแทง กับคู่อริอยู่ตลอด เหตุการณ์เกิดขึ้นมีนาคม 2559 ตอนนั้นอายุ 17 ปี ไล่ตามยิงคู่อริต่างสถาบัน โดนจับในคดีร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องรับความผิดที่ตนเองก่อไว้ จากบ้านต้นทางมาจนถึงเข้าสู่บ้านกาญจนาภิเษก มีกิจกรรมการทำ Empower ดึงคนในครอบครัวมาช่วยกันคิดว่าสิ่งไหนที่เป็นปัจจัยผลักไสให้เด็กออกจากบ้าน

“พ่อแม่ต้องมาช่วยกันคิด วิเคราะห์ร่วมกัน เพราะครอบครัวมีพลังอำนาจเปลี่ยนแปลงเด็กได้ จากการแลกเปลี่ยนความคิดที่จะทำยังไงถึงจะรอดจากปัญหาเหล่านี้ จากนั้นก็นำไปสู่การแก้ปัญหา พ่อเลิกกินเหล้า แม่เลิกบ่น ใช้เวลาหลายเดือน เข้าร่วมกิจกรรมหลายครั้ง ผมก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น การกอบกู้ความคิดที่ผิดพลาดให้คิดใหม่ จุดเปลี่ยนนี้ทำให้ได้ครอบครัวที่อบอุ่นกลับคืนมา เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อครอบครัว มีความสุขมากขึ้น สำหรับผมแล้วเหล้ามันเข้ามาทำร้ายผมและครอบครัวจริงๆ วันเยาวชนในปีนี้จึงอยากให้ภาครัฐหันมาฟังเสียงของพวกเราบ้าง” อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกบ้านกาญจนาภิเษก กล่าว