กรมชลประทาน ติดตามและบริหารจัดการน้ำ เร่งระบายน้ำลงโขง หลังมีฝนตกหนักภาคอีสาน

วันที่ 16 กันยายน 2566 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 สำนักเครื่องจักรกล ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะส่วนกลาง (swoc) เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่างๆ ตามข้อสั่งการของ ร้อยเอกธรรมนัส พหรมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีความห่วงใยถึงสถานการณ์น้ำที่มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคอีสาน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำเพื่อวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในทุกมิติ พบว่าพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกอย่างเนื่อง อาทิ บริเวณลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนคร ลุ่มน้ำชี-มูลตอนกลางและตอนล่าง จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคอีสาน เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมร่วมกันบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีการจัดจราจรทางน้ำให้สอดคล้องกัน เพื่อให้การระบายน้ำทำได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล แม้ว่าจะยังไม่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง แต่ได้สั่งการให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำไว้ประจำจุดเสี่ยง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงต่อไปแล้ว

สำหรับพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ อาทิ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด ด้านพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่มีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ นั้น ได้เน้นย้ำให้มีการรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ทำนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดทำนาปีต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงปลายฝนให้ได้มากที่สุด โดยจะเน้นส่งน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก

ทั้งนี้ ใกล้จะเข้าสู่ฤดูฝนของทางพื้นที่ภาคใต้ตอนบนแล้ว จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมรับสถานการณ์ รวมทั้งประเมินศักยภาพการรับน้ำของพื้นที่ท้ายอ่างฯ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญขอให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ ปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 และ 3 มาตราการรับมือฤดูฝนปี 66 เพิ่มเติม ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพ สามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้มากที่สุด