กระทรวง พม. เสริมพลังเครือข่ายเพื่อยกระดับการดูแลกลุ่มเปราะบางให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น

วันที่ 15 กันยายน 2566 เวลา 13.00 น. ณ โรงแรมลำปำรีสอร์ท ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเสริมพลังและบทบาททางสังคมของอาสาสมัครและภาคประชาสังคม กิจกรรม ถอดบทเรียนงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางและจัดทำแผนขับเคลื่อนปี 2567 พร้อมมอบรางวัล แก่กองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีโครงการผลงานดีเด่น และศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลดีเด่น กล่าวรายงาน โดย นางมณี สารผล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพัทลุง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 81 คน ประกอบด้วย อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตัวแทนกองทุนสวัสดิการชุมชนและสภาองค์กรชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่าย พม. ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างกองทุนสวัสดิการชุมชนทุกระดับ

นายกันตพงศ์ กล่าวว่าการจัดโครงการในวันนี้ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างเป็นระบบในทุกมิติเพื่อให้การแก้ไขปัญหาความยากจนในกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการเสริมพลัง พัฒนาศักยภาพเครือข่าย พม. ในพื้นที่ให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจังหวัดพัทลุงมีข้อมูลผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มคนเปราะบางทางสังคมจากฐานข้อมูลระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP จำนวน 15,172 ครัวเรือน และครัวเรือนเปราะบางในระบบ MSO-Logbook จำนวน 9,078 ครัวเรือน ) ซึ่งครอบคลุมในทุกมิติ และจากการจัดทำรายงานสถานการณทางสังคมจังหวัดพัทลุง ประจำปี 2565 พบว่า จังหวัดพัทลุงมีปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข จำนวน 4 ปัญหา ได้แก่ 1) ปัญหาเด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม 2)ปัญหาครอบครัวอ่อนแอ จากการเปลี่ยนโครงสร้างของสถาบันครอบครัว และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความซับซ้อน 3) ปัญหาความยากจน/ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย และ 4) ปัญหาผู้สูงอายุ จังหวัดพัทลุงมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2566 มีผู้สูงอายุ จำนวนร้อยละ 20.44 ของจำนวนประชากร ในขณะเดียวกันจังหวัดพัทลุงมีอาสาสมัครและองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้แก่อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน ๓,๒๘๓ คน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เชี่ยวชาญด้านคนพิการ จำนวน 603 คน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ 115 คน กองทุนสวัสดิการชุมชน จำนวน 73 กองทุน องค์กรสาธารณประโยชน์ จำนวน 85 องค์กร ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง แต่ก็ต้องมีพัฒนาศักยภาพและยกระดับในการใช้ทักษะในการการดูแลและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่อไป

นายกันตพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เครือข่าย พม. เป็นหัวใจในการดูแลกลุ่มเป้าหมายทุกประเภทในระดับพื้นที่ หากเครือข่ายเราเข้มแข็งจะสามารถดูแลและช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม กลุ่มคนยากจน และกลุ่มคนเปราะบาง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดหวังว่าจังหวัดพัทลุงจะเป็นต้นแบบในด้านการจัดสวัสดิการสังคม ดูแลและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางได้อย่างเป็นระบบและพัฒนาต่อยอดรูปแบบการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา “พัทลุงโมเดล” ต่อไป ทั้งนี้ พม.ตรัง พร้อมขับเคลื่อนงานด้านสังคมและส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนสามารถโทรติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์โทรสายด่วน 1300 หรือผ่านระบบ ESS Help me กรณีแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม โดยคลิกลิงก์ https://lin.ee/GetbF8D เพิ่มเพื่อนใส่มือถือไว้แจ้งเหตุได้ตลอด 24 ชม.