กระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำการบูรณาการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน สร้างความสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ ภายใต้ “โครงการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณริมแม่น้ำกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ระยะที่ 2”

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตรวจติดตามโครงการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณริมแม่น้ำกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ระยะที่ 2 ในโอกาสนี้ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วย นายณรงค์ น้ำผึ้ง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงราย ร่วมนำเสนอข้อมูลโครงการ โดยมี นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายสมพร กาญจน์นิรันดร์ ผู้ตรวจราชการกรม และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอเมืองเชียงราย นายกเทศมนตรีนครเชียงราย พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ร่วมติดตาม ณ บริเวณพื้นที่โครงการฯ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ได้ร่วมกับเทศบาลนครเชียงราย ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณริมแม่น้ำกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ระยะที่ 2 ในบริเวณพื้นที่เขื่อนริมแม่น้ำกกแห่งนี้ อันเป็นการเสริมสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนคนเชียงราย ทำให้เกิด “พื้นที่ของชุมชน” ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง (Open Space) ให้คนในชุมชนได้มีพื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมอื่น ๆ อันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพ สุขภาวะ คนทุกเพศทุกวัยได้ใช้เวลาร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคม ความมั่นคง ความรัก และความสามัคคีของคนในชุมชน และประการสุดท้าย ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณริมแม่น้ำกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ระยะที่ 2 เป็นโครงการที่กรมฯ ได้พัฒนาขึ้นในพื้นที่ใกล้ย่านชุมชน วัด และพื้นที่เศรษฐกิจ โดยมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ ลานกิจกรรม ทางลาด และบันไดลงสู่แม่น้ำ พร้อมเขื่อนป้องกันตลิ่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้พื้นที่ทำกิจกรรม และออกกำลังกาย โดยมีการแบ่งพื้นที่ชัดเจนสำหรับการทำกิจกรรม อาทิ ปั่นจักรยาน วิ่ง เล่นเซิร์ฟสเก็ต พายเรือ และเดินชมวิวริมแม่น้ำ ถือเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีสุขภาพที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จากความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ในการปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด โดยพื้นที่บริเวณลานกิจกรรมมีการนำลวดลายผ้าไหม และผ้าฝ้าย รวมทั้งผ้าปักชาวเขา ซึ่งเป็นผ้าพื้นถิ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มาสร้างสรรค์เป็นสีของพื้นลานกิจกรรม เพื่อทำให้เกิดความสวยงาม และเป็นการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ โครงการฯ มีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งหลังจากโครงการก่อสร้างเสร็จสิ้น จะมีพี่น้องประชาชนในพื้นที่เข้ามาใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมเป็นจำนวนมาก