สวธ.มอบรางวัลผู้ชนะเลิศการออกแบบลายผ้าไทยสู่สากล ส่งเสริมนักออกแบบลายผ้ารุ่นใหม่ สู่วงการแฟชั่นระดับสากล

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดงานมอบรางวัลผู้ชนะเลิศ กิจกรรมการประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากลเพื่อการต่อยอดและพัฒนา (Cultural Textile Awards 2023) ภายใต้โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2566 มีนิสิตนักศึกษา ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปให้ความสนใจส่งผลงานเข้าประกวดมากถึง 63 ผลงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย และสิ่งทอสร้างสรรค์  ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 24 ผลงาน สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลในแต่ละประเภทจะได้รับเงินรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ดังนี้ รางวัลที่ 1 ชนะเลิศ เงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 เงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 เงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท  และรางวัลชมเชย 5 รางวัล ๆ ละ 10,000 บาท  โดยมี นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล  โอกาสนี้ ดร.ปรารถนา คงสำราญ หัวหน้าโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2566  นางมงคลทิพย์ รุ่งงามฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และแขกผู้มีเกียรติร่วมงาน ณ ห้องประชุมชั้น G 23 ชั้น 2 อาคารนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มศว.ประสานมิตร

วันที่ 15 กันยายน 2566 เวลา 14.00 น. นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานมอบรางวัลฯ กล่าวว่า สวธ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นในงานหัตถกรรม จึงได้ดำเนินงานโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทย  สู่สากล กิจกรรมการประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากลเพื่อการต่อยอดและพัฒนา (Cultural Textile Awards 2023) เพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผ้าทอไทย และนักออกแบบลายผ้ารุ่นใหม่ โดยนำแนวคิดจากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกาย ด้วยผ้าไทย เล่มที่ 3 (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023) มาเป็นหัวข้อในการประกวด เพื่อให้ผู้เข้าประกวดสามารถพัฒนารูปแบบการสร้างสรรค์ลายผ้าไทย ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยสู่ความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นให้สามารถนำองค์ความรู้มาสู่การปฏิบัติได้จริง สร้างรายได้ให้เกิดแก่ชุมชนกลุ่มที่ทอผ้า และผู้ประกอบการด้านผ้าไทย รวมถึงเป็นแนวทางและแรงบันดาลใจในการสร้างงานสร้างอาชีพของนิสิต นักศึกษา ประชาชนที่สนใจในอนาคตต่อไป

สวธ.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมการประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากลครั้งนี้ จะเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมเรื่องผ้าไทยมาต่อยอดสู่สากล สร้างคุณค่าทางจิตใจและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับชาติต่อไป และขอขอบคุณคณะกรรมการโครงการฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และวิทยากรทุกท่าน ที่มีส่วนร่วม ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งผู้เข้าประกวดที่ให้ความสนใจร่วมส่งผลงานตั้งแต่รอบแรก หวังว่าจะได้ชื่นชมผลงานสร้างสรรค์การออกแบบผ้าไทย ในรูปแบบที่ทันสมัย แต่ยังคงเอกลักษณ์ผ้าทอไทยที่งดงาม ในการประกวดปีต่อไป รองอธิบดี ฯ กล่าว

สำหรับรายชื่อผู้ชนะเลิศกิจกรรมการประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากลเพื่อการต่อยอดและพัฒนา (Cultural Textile Awards 2023) ภายใต้โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2566  ประกอบด้วย

ประเภทผ้าไหม รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน ลายไทย ลายเทศ”  โดยนายจักรวรรดิวัตร ปรีจำรัส .กาฬสินธุ์ มีแรงบันดาลใจในการออกแบบจากแนวคิด คือ ไทยและต่างชาติมีการค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเป็นเวลาช้านานมาแล้วทำให้เกิดงานศิลปะผสมผสานระหว่างไทยและต่างประเทศ เช่น สถาปัตยกรรม ลวดลายต่าง ๆ ที่อยู่ในงานจิตรกรรมรวมไปถึงลายผ้าด้วย จึงเกิดเป็นลายไทยผสมลายเทศ โดยใช้เทคนิคการทอผ้าแบบผ้ายกผสมการจก ใช้ครั่งย้อมเส้นพุ่ง เส้นยืนและเส้นจก ส่วนเส้นยกย้อมด้วยเปลือกต้นพะยอม ต้นไม้ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน ”ล่องโขง” โดยนางสาวตะวัน แพนแหล้ จ.กาฬสินธุ์  และรองชนะเลิศอันดับ 2 ผลงาน ”เพ่งพินิจ” โดยนายธีรภัทร์ เพ็งพินิจ จ.สุรินทร์

ประเภทผ้าฝ้าย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน  Fusion of Otherness”สารพัดลักษณ์โดย นายศักดิ์สิทธิ์ ภัทรประกฤต จ.นนทบุรี มีแรงบันดาลใจในการออกแบบ คือ การนำเอาความหลากหลายของความงามในการทอผ้า มาใช้ในการสร้างสรรค์เพื่อเป็นภาพสะท้อนของกระบวนการหลอมรวมทางวัฒนธรรม โดยอาศัยรูปแบบการหยิบยืมจากภูมิปัญญาที่หลากหลายมาสร้างให้เกิดรูปแบบของการรวมกันตามลักษณะ ผ้าขาวม้า ซึ่งถือเป็นสัญญะของวัฒนธรรมร่วมเป็นความหลากหลาย ซึ่งเกิดจากการนำเอาวัฒนธรรมนอกเข้ามาต่อยอด เพื่อให้เหมาะสมและเข้ากับวิถีชีวิตที่ต่างกัน ถือเป็นการยกระดับให้เห็นถึงศักยภาพความเป็นไปได้อื่นของผ้าขาวม้าไทยในมิติสากล ใช้เทคนิคกการทอด้วยโครงสร้างแบบ Twill ซึ่งทำให้ผ้ามีผิวสัมผัสที่แน่น แข็งแรง คงรูปได้ดี เหมาะสำหรับการใช้งานได้หลากหลาย ซ้อนด้วยมิติในผืนผ้าด้วยการมัดหมี่ทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน เป็นลายผ้าขาวม้า ซึ่งถือเป็นเทคนิคเฉพาะตัวของผู้ออกแบบ และการสลับกระสวยเพื่อให้เกิดรูปแบบผ้าขาวม้าร่วมสมัย วัสดุที่ใช้คราม ประดู่ ต้นตองโคบ เพกา ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน ”สุดสะแนนในแดนแอปพาเลเชีย” โดยนายวิฑูรย์ ไตรรัตน์วงศ์  จ.ขอนแก่น  และรองชนะเลิศอันดับ 2  ผลงาน ”อีต่อง -ปิล็อก” โดยนางสาวปาณีกาญจน์  โหตระไวศยะ จ.ปทุมธานี

ประเภทสิ่งทอสร้างสรรค์ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานชื่อ ”Unconditional love” โดยนางสาวณัฐนิชา ธรรมวาริน  กรุงเทพฯ  มีแรงบันดาลใจในการออกแบบ คือ ความรักเป็นสิ่งสวยงาม ไม่จำกัดเพศ การนำความรักรูปแบบหนึ่ง (LGBTQ+) มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชิ้นนี้ เพื่อสื่อถึงความรักที่ผู้ชายจำเป็นต้องแต่งงานและสร้างครอบครัวกับผู้หญิงนั้นไม่เสมอไป ซึ่งนักออกแบบต้องการนำเสนออีกมุมมองของความรักที่น่าประทับใจเพื่อสื่อถึง “ตัวตนข้ามวัฒนธรรม” อันสวยงาม   ใช้เทคนิคทอด้วย Flat Knit Machine สร้างลวดลายโดยเส้นใยธรรมชาติทอสลับเอ็นใส  วัสดุที่ใช้เป็นเส้นไหมย้อมด้วยฝาง ใบมะม่วงและใบมะขาม เส้นฝ้ายย้อมด้วยหินโมคคัลลาน ดินแดงและยางกล้วย ส่วนรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ผลงานชื่อ ”สู่เมืองกรุง” โดยนางสาวซัมมีย๊ะ ฮะกือลิง จ.นราธิวาส  และรองอันดับ 2 ผลงานชื่อ ”ดวงพิทักษ์” โดยเปมิกา เพียเฮียง จ.ลพบุรี

ทั้งนี้ นักออกแบบที่ส่งผลงานเข้าประกวดสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้ที่ http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=7281&filename=index  หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มเผยแพร่และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โทร. 0-2247-0013 ต่อ 4321