วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 15.00 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วย นางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โดยมี นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน นายปริญญา คัชมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 นายสัณฐิต พีรานนท์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลพังขว้าง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
ในการนี้ นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้รายงานผลการดำเนินงานของอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ได้รับความเสียหายจากอิทธิพลของพายุ โซนร้อน “ตาลัส” และ “เซินกา” เมื่อวันที่ 24 – 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการแก้ไขปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ขมิ้นให้ใช้การได้โดยเร็ว ซึ่งกรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ ดำเนินการซ่อมแซมระยะเร่งด่วน พร้อมทั้งปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ ห้วยทรายขมิ้น แล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2561 ประกอบด้วย
1. ปรับปรุงทำนบดินพร้อมอาการประกอบ กว้าง 9 เมตร ยาว 1,165 เมตร สูง 11 เมตร
2. ปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น ขนาด 6.00*4.50 เมตร 2 ชั้น จำนวน 3 ช่อง ระบายน้ำสูงสุด 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
3. ปรับปรุงอาคารท่อส่งน้ำฝั่งขวาและอาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม ขนาดท่อ 1.20 เมตร ยาว 95 เมตร ระบาย น้ำสูงสุด 8.127 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
4. ปรับปรุงอาคารท่อส่งน้ำฝั่งซ้าย ขนาดท่อ 1.00 เมตร ยาว 115 เมตร ระบายน้ำสูงสุด 5.200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
5. ขุดลอกอ่างเก็บน้ำ จำนวน 600,000 ลูกบาศก์เมตร (ดำเนินการโดยกรมการทหารช่าง)
ทั้งนี้ นายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รายงานการกำจัดวัชพืชในอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ ซึ่งวัชพืชนั้นจะนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก สนับสนุนโครงการวัชพืช แลกปุ๋ยอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นให้แก่เกษตรกรในพื้นที่โครงการต่อไป ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ยังได้เข้าไปพัฒนาส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรรอบอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ พร้อมจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่เกษตรกรต้นแบบ จำนวน 3 แห่ง และศูนย์เรียนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน จำนวน 2 แห่ง ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถ พึ่งพาตัวเองได้ ตลอดจนใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสามารถสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้อีกด้วย
จากนั้น พบปะเกษตรกรหมู่บ้านที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ พร้อมทั้งมอบปัจจัยการผลิตให้แก่ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำและศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ