วธ. ชวนเปิดประสบการณ์ใหม่เที่ยวตลาดน้ำบนน้ำตก แห่งเดียวในประเทศไทย “ตลาดน้ำกลางป่ากวางโจว” 1 ในการยกระดับ 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย แชะภาพสุดเก๋กับเมนูสุดอร่อยบนกระบอกไม้ไผ่ ชมน้ำตก อุโมงค์ซุ้มไผ่ติดแอร์ นั่งแพไผ่สปาปลาชิลๆ หนุนกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้แก่ชุมชน
วันที่ 10 กันยายน 2566 นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดตัว 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 “ตลาดน้ำกลางป่ากวางโจว” โดยมี นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นางวาสนา ไตรรัตน์ ผู้นำตลาดน้ำกลางป่ากวางโจว ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด 10 จังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคกลาง ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ ตลาดน้ำกลางป่ากวางโจว อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การแสดงศิลปวัฒนธรรม ชื่อชุดการแสดง “หญ้าปล้องตระการ ตลาดน้ำกลางป่ากวางโจว” พิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนตลาดน้ำฯ เยี่ยมชมการสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT/CCPOT) และเยี่ยมชมตลาดน้ำกวางโจว
รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ปรับบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน มุ่งยกระดับตลาดน้ำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน เน้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยในปี 2566 นี้ วธ. ได้ดำเนินโครงการคัดเลือก 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย คัดเลือกตลาดน้ำที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านสถานที่และชุมชน พร้อมร่วมมือร่วมใจพัฒนายกระดับตลาดน้ำ จำนวน 6 แห่ง ซึ่งนับว่าเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ ตลาดน้ำกลางป่ากวางโจว ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรีแห่งนี้ ได้รับการคัดเลือก เป็น 1 ใน 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และขอขอบคุณหน่วยงาน องค์กรทุกภาคส่วน ที่ให้ความสำคัญและผลักดัน ในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมในพื้นที่ จนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ขอชื่นชมและขอขอบคุณท่านผู้นำ ผู้ขับเคลื่อนตลาดน้ำ และชาวตลาดน้ำกลางป่ากวางโจว ที่ได้ร่วมแรง ร่วมใจ ในการขับเคลื่อนตลาดน้ำจนประสบผลสำเร็จ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง มีผู้นำและเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง ชุมชนมีทุน ทางวัฒนธรรมที่เป็นตลาดน้ำที่ล้ำค่า มีสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงที่หลากหลายน่าสนใจ คนในชุมชนมีความรัก สามัคคี อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือนเป็นอย่างดี
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า จังหวัดเพชรบุรี อยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสม เป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงในลำดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชีย ทำให้จังหวัดเพชรบุรีสามารถพัฒนาเมืองให้สอดรับกับแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในพื้นที่ได้อย่างลงตัว ที่จะทำให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนทุกระดับของเมือง โดยแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรี มีความโดดเด่นได้รับความนิยมสูงจากภูผาสู่มหานที ซึ่งนับเป็นความโชคดี ของจังหวัดเพชรบุรี ที่ตลาดน้ำกลางป่ากวางโจว ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกระทรวงวัฒนธรรม อันจะเป็นการต่อยอดด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรีให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเป็นไปตามประกาศกระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดเลือกตลาดบกและตลาดน้ำส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน อัตลักษณ์ไทย สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม : 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีตลาดบกและตลาดน้ำที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 16 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดบก 10 แห่ง ได้แก่
1. ตลาดเก่าหัวตะเข้ กรุงเทพมหานคร
2. ตลาดคลองบางหลวง กรุงเทพมหานคร
3. ตลาดจีนชากแง้ว จังหวัดชลบุรี
4. ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่
5. ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน จังหวัดน่าน
6. ตลาดสู้ศึกคึกคัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
7. ตลาดเชียงคาน เมืองสีสัน วัฒนธรรมริมโขง จังหวัดเลย
8. ตลาดริมน้ำคลองแดน (ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน) จังหวัดสงขลา
9. ตลาดตรอกโรงยา (ถนนสั้น ตำนานยาว) จังหวัดอุทัยธานี
10. ตลาดเขมราษฎร์ธานี จังหวัดอุบลราชธานี
ด้านตลาดน้ำ 6 แห่ง ได้แก่
1. ตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2. ตลาดน้ำกลางป่ากวางโจว จังหวัดเพชรบุรี
3. ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก จังหวัดราชบุรี
4. ตลาดน้ำคลองแห จังหวัดสงขลา
5. ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ
6. ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
โดยจะดำเนินการจัดพิธีเปิดตัว 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำสืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2566 นี้ เพื่อยกระดับให้รู้จักในวงกว้าง เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ผ่านตลาดบกและตลาดน้ำ
“ตลาดน้ำกวางโจว” เป็นตลาดน้ำที่ตั้งอยู่ในบริเวณบนป่าเขา ชื่อตลาดน้ำกวางโจว ชื่อกวางโจว เป็นภาษากะเหรี่ยง เป็นชื่อที่ตั้งเป็นมาจากตำนานของพื้นที่ ที่เมื่อก่อนบริเวณนี้มีกวางอยู่เป็นจำนวนมาก และ โจว มาจาก คำว่า ใหญ่ หรือพี่คนโต รวมความว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นที่อยู่ของกวางตัวใหญ่ ในสมัยก่อน ตลาดน้ำแห่งนี้บริหารงานโดย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยน้อมนำโครงการพระราชดำริมาพลิกฟื้นผืนป่า และพัฒนาเป็นตลาดน้ำ เป็นตลาดน้ำที่ตั้งอยู่บนผืนป่าแห่งแรกของประเทศไทยและมีภูมิทัศน์ที่ร่มรื่น มีน้ำตก มีป่าที่มีความร่มรื่น ร่มเย็น อีกทั้งยังมีความเข้มแข็งของกลุ่มนักเรียน กลุ่มแม่บ้านพ่อบ้าน และกลุ่มชาติพันธุ์ ได้นำสินค้าและอาหารพื้นบ้านมาจำหน่าย เพิ่มลูกเล่นในการเสิร์ฟด้วยภาชนะที่ทำจากไม้ไผ่ที่เป็นเอกลักษณ์ของตลาดน้ำแห่งนี้ มีอาหารจากครัวชายป่า อร่อยยอดฮิต อิ่มง่าย สบายท้อง เช่น ส้มตำไม้ไผ่ยาว 1 เมตร เมี่ยงคำมอญในกระบอกไม่ไผ่ ห่อหมกทะเลย่าง ผัดไทยม้ง ยำปลาดุกฟูในใบตอง กุ้งและเปาะเปี๊ยะทอดในกาบกล้วย ขนมหม้อแกง ทองม้วนสดในกระบอกไม้ไผ่ และโรตีมะพร้าวอ่อน ด้านของฝากที่มาแล้วต้องซื้อกลับบ้าน อาทิ ไก่ทอดในกระบอกไม้ไผ่ ไข่นกกะทาในกาบกล้วย พิซซ่าเวียดนามในกระบอกไม้ไผ่ บ้าบิ่นในกระบอกไม้ไผ่ กุ้ยช่ายนึ่งในกระบอกไม้ไผ่ ทองม้วนสดในกระบอกไม้ไผ่ ขนมตาล ไข่ปิ้งบนหิน น้ำตาลสด และพืชผักสมุนไพร เป็นต้น
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับบรรยากาศท่ามกลางธรรมชาติของป่าไม้ ชมน้ำตกแก้มลิงทำตามแนวพระราชดำริ อุโมงค์ซุ้มไผ่ติดแอร์อุณภูมิ 25 องศา นั่งแพไผ่สปาปลา(นั่งฟรีทั้งวัน) ช้อป ชิม ของกินท้องถิ่น ราคาเยาว์ เล่นน้ำ (เล่นฟรีทั้งวัน) พายเรือเล่นชมธรรมชาติ ลำละ 30 บาท สักการะต้นไทรศักดิ์สิทธิ์ และให้อาหารกะรอก สำหรับผู้ที่สนใจตลาดน้ำแห่งนี้เปิดบริการทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.30 – 17.00 น.