กรมคุ้มครองสิทธิฯ ชี้ แผนฯ ชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะ 2 มุ่งคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเพิ่มมาตรการป้องกันการฟ้องปิดปาก

วันที่ 8 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ณ The Portal Ballroom อิมแพ็ค เมืองทองธานี กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้จัดงานประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยมี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน โดยแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ฉบับดังกล่าว ถือเป็นกรอบนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจ ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงคุ้มครองประชาชนและชุมชนไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเป็นผลมาจากการประกอบธุรกิจ มุ่งสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยแผนปฏิบัติการฯ ครอบคลุมประเด็นสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่

1. ด้านแรงงาน

2. ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3. ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

4. ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ

นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า ประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ถือเป็นประเด็นสำคัญภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ซึ่งที่ผ่านมา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด โดยระดับนโยบาย ได้มีการบรรจุเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไว้ในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งทั้งสองแผนถือเป็นกรอบนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลที่ทุกหน่วยงานจะต้องนำไปปฏิบัติ ส่วนในระดับกฎหมาย ได้มีการผลักดันและแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และในระดับปฏิบัติ ได้มีการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ทั้งการรับเรื่องราวร้องทุกข์ การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การส่งเสริมสิทธิแก่ผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนคดีอาญา การไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท การคุ้มครองพยาน และการเยียวยาเหยื่ออาชญากรรมแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง กระทรวงยุติธรรมยังได้สนับสนุนเงินกองทุนยุติธรรมเพื่อในค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางคดีด้วย

นอกจากนี้ ยังได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแก่ทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนศึกษาแนวทางการจัดทำมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และแนวทางการพัฒนากฎหมายและมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน รวมทั้งได้ศึกษาแนวทางการยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้วย ทั้งนี้ มีความมุ่งมั่น เพื่อช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และอำนวยความยุติธรรมให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม ประหยัด รวมถึงสามารถใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม