วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2562 ณ ห้องทุ่งศรีเมือง โรงแรม เซ็นทารา และคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดย กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นร่างคู่มือล่ามในกระบวนการยุติธรรม ครั้งที่ 4ในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมฯ ในส่วนภูมิภาคไปแล้ว ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ และครั้งนี้เป็นการจัดประชุมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมี ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม จำนวน 100 คน
สำหรับการจัดประชุมฯ ดังกล่าว จัดให้มีการอภิปราย ในประเด็น “กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย และบทบาทของล่ามในการดำเนินคดีอาญา โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร พันตำรวจเอก ดร.ชิตพล กาญจนกิจ อาจารย์ (ศบ 5) กลุ่มงานอาจารย์กองบัญชาการศึกษา นางณภัสสร สงวนหงษ์ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษ นางสาวพิมพ์พร เนตรพุกกณะ ผู้อำนวยการส่วนราชทัณฑ์ต่างประเทศ กองทัณฑวิทยา และ นายพรรษวุฒิ ปูชนียกุล พนักงานคุมประพฤติปฏิบัติการ ร่วมอภิปราย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ และการอภิปรายและรับฟังความคิดเห็นร่างคู่มือล่ามในกระบวนการยุติธรรมในหมวดคำศัพท์เพื่อใช้เป็นคู่มือล่ามในการให้ความช่วยเหลือแก่ ผู้เสียหาย ผู้ต้องหาและพยานในคดีอาญา
ทั้งนี้สืบเนื่องจาก กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำร่างคู่มือล่ามในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษสำนักงานกิจการยุติธรรม กองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานราชบัณฑิตยสภา กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเพื่อร่วมกันพิจารณาคัดเลือกคำศัพท์ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 ชั้นสอบสวน หมวดที่ 2 การพิจารณา หมวดที่ 3 ชั้นคดีถึงที่สุด หมวดที่ 4 อื่นๆ และหมวดที่ 5 คำศัพท์ที่สำคัญ รวมทั้งสิ้น 398 คำ
ดังนั้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงได้จัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมในส่วนภูมิภาคที่ได้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาปรับปรุงร่างคู่มือฉบับนี้ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนที่จะมีการจัดแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมต่อไป และในปีถัดไป ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะได้เนินการแปลเป็นภาษาอื่น ๆ ต่อไป