กรมชลประทาน เตรียมพร้อมแผนการรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง (เอลนีโญ) เมืองหมอแคน จับมือ กฟผ./จังหวัดขอนแก่น

วันที่ 8 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่พบปะประชาชน พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายจรัญ คำเงิน รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 6 และผู้เกี่ยวข้อง รายงานสรุปการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่และแผนการรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง (เอลนีโญ) ณ เขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ปัจจุบัน (6 ก.ย. 66) มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 296 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 16% ของความจุอ่างฯ ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องจากปริมาณฝนตกสะสมในพื้นที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยมากถึง 39% กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น วางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างรัดกุม คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 (ณ วันที่ 1 พ.ย.66) จะมีปริมาณน้ำเพียง 709 ล้าน ลบ.ม. จะเพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ สำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนถัดไป และอุตสาหกรรมเท่านั้น ส่วนด้านการเกษตร จะมีการพิจารณาด้านการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตามปริมาณน้ำต้นทุน โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำชีและมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธาน

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยในระยะสั้น จะสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ เข้าไปกำจัดวัชพืชและขุดลอกคลองต่าง ๆ เพื่อจัดทำแหล่งน้ำสำรอง กักเก็บน้ำไว้ใช้ให้ได้มากที่สุด ส่วนในระยะกลาง ได้จัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน โดยการจัดทำระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) จำนวน 5 แห่ง ตามแนวพระราชดำริ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำลำเจียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร และอ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ (ลำกระจวน) หากมีการดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 240 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์มากถึง 188,000 ไร่

อีกหนึ่งแผนงานสำคัญ คือ โครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อน พร้อมอาคารประกอบ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยมีแผนดำเนินงานปี พ.ศ.2564-2569 เป็นการขุดลอกแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบ เพื่อเพิ่มความจุเก็บกักน้ำจากเดิม 7.43 ล้าน ลบ.ม. เป็น 35.02 ล้าน ลบ.ม. ทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกประมาณ 35,000 ไร่ นอกจากนี้ยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ต่อยอดพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคตอีกด้วย

ส่วนในระยะยาว ได้วางแผนโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาโครงการลุ่มน้ำชี ด้วยการปรับปรุงปากแม่น้ำเลย การขุดคลองชักน้ำ บ่อดักตะกอน และอาคารควบคุมน้ำ การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำด้วยแรงดัน คลองลำเลียงน้ำ และการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำทางน้ำเปิด รวมแนวผันน้ำทั้งหมดประมาณ 174.449 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยในการส่งน้ำไปยังบริเวณพื้นที่สูงหรือพื้นที่แห้งแล้งได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยังช่วยเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ เช่น เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีฯ ได้พบปะพูดคุยกับเกษตรกรและพี่น้องประชาชน และได้สร้างความมั่นใจในการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลในด้านการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างสูงสุด ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ การอุตสาหกรรม และการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน