วันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนนทบุรี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เยี่ยมชมการฝึกอาชีพโครงการเพิ่มศักยภาพแรงงานผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเยี่ยมชมการฝึกอาชีพโครงการดังกล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคเท่าเทียมทางสังคม ที่มุ่งเป้า ฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนกว่า 6 แสนราย โดยมอบหมายให้กรมการจัดหางาน ที่สนับสนุนการจัดหางานให้แก่ผู้ที่ที่มีรายได้น้อย และส่งเสริมการรับงานกลับไปทำที่บ้าน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักงานประกันสังคม ดูแลให้ความคุ้มครองและส่งเสริมการเข้าสู่ระบบประกันสังคมให้แก่ผู้มีรายได้น้อยร่วมด้วย ส่วน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ดำเนินการด้านการฝึกอาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนฝึกอาชีพในหลักสูตรต่างๆ จำนวน 58 หลักสูตร มีระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชม. 30 ชม. และ 60 ชม. พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยอย่างครอบคลุมทั่วถึง คาดว่าจะมีงานทำอย่างน้อย 65 เปอร์เซ็นต์ หลังจากผ่านการฝึกอาชีพ
ด้านนายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกพร. กล่าวต่อไปว่า กพร. มีเป้าหมายดำเนินการฝึกอาชีพให้ผู้รายได้น้อย 625,120 คน กำลังดำเนินงานแบบประชารัฐโดยให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.ประสานจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องจัดฝึกอบรม ซึ่ง รมว.แรงงาน ได้เยี่ยมชมการฝึกอาชีพโครงการเพิ่มศักยภาพแรงงานผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนทบุรี (สนพ.นนทบุรี) ซึ่งมีผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดนนทบุรีที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพ จำนวน 4,157 คน แบ่งเป็นฝึกอาชีพเสริมและฝึกอาชีพช่างอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) จำนวน 131 คน ในสาขาอาชีพช่างก่อสร้าง ช่างปูกระเบื้อง ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น โดยการฝึกอบรมครั้งนี้ สนพ.นนทบุรีได้ดำเนินการฝึกอบรม รวม 6 รุ่น จำนวน 100 คน ในสาขาต่างๆ ได้แก่ การประกอบอาหารไทย (อาหารจานเดียว) การทำศิลปะประดิษฐ์ ได้แก่ การตกแต่งผ้าไทย เก้าอี้ยางรถยนต์ ประดิษฐ์ดอกไม้จากธนบัตร ดอกไม้ประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลระบบตู้งาน (Job Box) ของกรมการจัดหางาน เน้นมีงานทำ มีรายได้ เพื่อให้ผู้รายได้น้อยสามารถเลือกดูตำแหน่งงานว่างได้ และยังได้ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวง ในการให้ข้อมูลการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย
“ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการฝึกอาชีพอย่างเต็มกำลัง โดยใส่ใจทุกขั้นตอนของรายละเอียดในการฝึกอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ซึ่งตั้งมั่นที่จะสร้างความมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ สอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย สามารถนำไปต่อยอดประกอบอาชีพหรือทำงานอิสระได้” อธิบดี กพร. กล่าว