วันที่ 6 กันยายน 2566 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมหารือการขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 (เพิ่มเติม) สำหรับรองรับสถานการณ์เอลนีโญ โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายอภิชาติ ชุมนุมมณี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง นายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ชั้น 3 อาคาร ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้นำ 3 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 (เพิ่มเติม) ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อรับมือกับสถานการณ์เอลนีโญ ได้แก่
1. จัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ โดยให้เน้นการจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำฝนในการเพาะปลูก บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต พิจารณาปรับลดการระบายโดยไม่กระทบต่อระบบนิเวศ เพื่อเป็นการประหยัดน้ำ
2. ควบคุมการเพาะปลูก ให้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ให้งดทำนาปีต่อเนื่อง ด้วยปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถส่งมาสนับสนุนได้อย่างเพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากการขาดแคลนน้ำได้ และให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด
3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ มีการบูรณาการร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ในการวางแผนจัดสรรน้ำตามรอบเวรอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ทุกพื้นที่มีปริมาณน้ำใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ
พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ลงพื้นที่ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรกรในพื้นที่ ได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำในช่วงสถานการร์เอลนีโญอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
“ด้วยความห่วงใยของรัฐบาล กรมชลประทานพร้อมขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ และกำชับให้มีการตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพตลอดเวลา เพื่อนำไปช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากภาวะเอลนีโญ ได้อย่างตรงเป้า ขับเคลื่อนได้ทันที” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว