สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ จ.เพชรบุรี

วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 14.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จ.เพชรบุรี

โดยมี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) พร้อมด้วย นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายนรเศรษฐ สองทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี นายสัณฐิต พีรานนท์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะ ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ

ในการนี้ อธิบดีกรมชลประทานได้กราบบังคมทูลรายงานถึงการดำเนินงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำพร้อมส่วนประกอบ โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ว่าเนื่องจากบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม และน้ำจืดของโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างมีความตื้นเขิน ทั้งนี้ ในปี 2566 กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานเพชรบุรี สำนักงานชลประทานที่ 14 ได้สนับสนุนงบประมาณและเข้าดำเนินการปรับปรุงและขุดลอก รวมทั้งหมด 7 บ่อ พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบ โดยมีบ่อน้ำเค็ม 6 บ่อ มีลักษณะเป็นงานขุดลอกตะกอนดินและปรับเกลี่ยด้วยเครื่องจักร ขนาดบ่อที่ระดับเก็บกัก กว้าง 34 ม. ยาว 74 ม. ลึก 2.50 ม. สามารถเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก 5,827 ลบ.ม. บ่อน้ำจืด 1 บ่อ มีลักษณะเป็นงานขุดลอกตะกอนดินและปรับเกลี่ยด้วยเครื่องจักร ขนาดบ่อที่ระดับเก็บกัก กว้าง 10.50 ม. ยาว 15 ม. ลึก 2.50 ม. สามารถเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก 253 ลบ.ม.

นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงเส้นทางสัญจรทั้งสายหลักและสายรอง ความยาวรวม ประมาณ 4 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำจืด และน้ำเค็ม ได้เต็มประสิทธิภาพ พร้อมช่วยให้ราษฎรในพื้นที่หรือผู้ที่สนใจเรียนรู้ประโยชน์จากโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่าง นำไปพัฒนาเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ประกอบอาชีพประมง ได้อย่างเหมาะสม

อนึ่ง โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยพระองค์ทรงทราบปัญหาสัตว์ทะเลธรรมชาติในน่านน้ำไทย ลดน้อยลงมาก รวมทั้งพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงและปัจจัยอื่น ๆ ที่ใช้ในการออกเรือไปจับสัตว์น้ำธรรมชาติในทะเลที่ห่างไกลนั้น มีต้นทุนที่สูงมากขึ้น สัตว์น้ำที่จับได้ขายแล้วไม่คุ้มทุน จึงมีพระราชดำริที่จะแก้ปัญหา บรรเทาความเดือดร้อนของพสกนิกร จึงทรงริเริ่มให้ดำเนินการฟาร์มทะเลตัวอย่างดังกล่าวเป็นแหล่งศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านการประมงแก่เกษตรกร เพื่อนำไปพัฒนาอาชีพประมง ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเอง