ฝนที่ตกน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้อยตามไปด้วย ย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน(18 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 8,293 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,597 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา ถึงแม้จะเข้าฤดูฝนปี 2562 แล้วก็ตาม แต่ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ตอนบนของ 4 เขื่อนหลัก ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำน้อยตามไปด้วย โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 8 – 14 กรกฎาคม 2562 มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวมกันเพียง 37 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้วถึง 169 ล้าน ลบ.ม. (ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ วันที่ 8 – 14 ก.ค. 61 สะสมรวมกัน 206 ล้าน ลบ.ม.) ในขณะที่ ยังมีความจำเป็นต้องระบายน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ (18 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ รวมกันประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. และมีการระบายน้ำรวมกันประมาณ 45 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับเขื่อนภูมิพล ปัจจุบัน(18 ก.ค. 62)มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 4,710 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 35 น้อยกว่าปี 2561 ประมาณ 2,535 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 910 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในวันนี้ไม่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ แต่ยังคงต้องระบายน้ำวันละประมาณ 23 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 8,700 ล้าน ลบ.ม. โดยในรอบสัปดาห์ (8- 14 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ สะสมเพียง 11 ล้าน ลบ.ม.
ด้านเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 3,388 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2561 ประมาณ 1,777 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 538 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯวันนี้ ประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ยังคงต้องระบายน้ำประมาณวันละ 19 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 6,100 ล้าน ลบ.ม. ในรอบสัปดาห์ (8- 14 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯสะสมเพียง 22 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำ 147 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 16 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เป็นน้ำใช้การได้ 104 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในวันนี้ไม่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ แต่ยังคงต้องระบายน้ำวันละประมาณ 2 ล้าน ลบ. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 800 ล้าน ลบ.ม. ในรอบสัปดาห์ (8- 14 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯสะสมเพียง 4 ล้าน ลบ.ม.
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 48 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 5 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2561 ประมาณ 139 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 45 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในวันนี้ไม่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ แต่ยังคงต้องระบายน้ำ วันละประมาณ 0.7 ล้าน ลบ. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 900 ล้าน ลบ.ม. ในรอบสัปดาห์ (8- 14 ก.ค. 62) ไม่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯแต่อย่างใด
จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำเก็บกักของ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำภูมิพลและอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้น้ำตลอดฤดูฝนและเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึง การส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนจึงให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักใช้น้ำชลประทานเสริมหากเกิดกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น และในเขตชลประทาน พื้นที่ดอนที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกข้าว ขอแนะนำให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกไปก่อน จนกว่าจะมีปริมาณน้ำฝนสม่ำเสมอ ด้านการบริหารจัดการน้ำ พื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกแล้ว จะดำเนินการส่งน้ำแบบประณีตด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง นอกจากนี้ ขอให้การสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเป็นไปตามรอบเวรหมุนเวียนส่งน้ำในแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการใช้น้ำในทุกภาคส่วน ทั้งนี้ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น สำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูแล้งหน้า และขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย
*********************************
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน