วันที่ 6 กันยายน 2566 เวลา 09.30 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี เปิดกิจกรรมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริเวณคลองปากเตย และพื้นที่ต่อเนื่อง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ตามแผนงานโครงการ พัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการ อย่างยั่งยืน (Geo – social Map) จังหวัดราชบุรี โดยอาศัยกลไกความร่วมมือการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในจังหวัดราชบุรี
นำทีมโดย นายอังกูร ศีลาเทวากูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน อาสาสมัคร ผู้นำชุมชน ร่วมกิจกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน องค์กรภาคเอกชน ส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) ซึ่งเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชา มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนการจัดทำผังภูมิสังคมฯ ทั่วประเทศ 76 จังหวัด เพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดโครงการและกิจกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งให้กับประชาชน พัฒนาเครือข่ายการทำงานแบบบูรณาการของผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับผู้นำชุมชน ประชาชน และภาคีเครือข่ายผังภูมิสังคม เป็นผังที่แสดงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ในเชิงกายภาพและสังคมวิทยา จัดทำขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
การพัฒนาโดยยึดหลักภูมิสังคมนี้ คือหลักสำคัญยิ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นกระบวนการที่หน่วยงานภาครัฐเข้าไปแนะนำ อธิบายให้คนในพื้นที่เข้าใจสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ ให้คนในพื้นที่ช่วยกันคิดว่าต้องการอะไรจริงๆ และเขียนบันทึกลงในผังภูมิสังคม เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้วางแผนงานโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในลักษณะภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา และเกิดการรักษาให้ยั่งยืน เนี่องจากเป็นโครงการและกิจกรรมที่ตนมีส่วนร่วม และได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
นายอังกูร ศีลาเทวากูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้กล่าวถึงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) จังหวัดราชบุรีได้จัดท้าผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map) ครบทั้ง 104 ตำบล 10 อำเภอแล้วเสร็จ และได้จัดทำโครงการที่ภาคประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน โดยไม่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ พร้อมทั้งมีภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้การสนับสนุนเครื่องจักรกลในการดำเนินงาน ซึ่งได้นำแผนงาน/โครงการที่ได้จากการประชุมคณะทำงานจัดทำผังภูมิสังคมฯ ดังกล่าว และมีการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ แล้วในพื้นที่ 6 อำเภอ โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ 7 ภาคีเครือข่าย มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการตามผังภูมิสังคมฯเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการ อย่างยั่งยืน (Geo – social Map) ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่อง พร้อมกับเป็นต้นแบบและตัวอย่างที่ดีให้แก่พื้นที่อื่นๆ ที่จะนำไปพัฒนาพื้นที่ของตนเอง การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วย
การจัดนิทรรศการโครงการผังภูมิสังคมฯ การดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริเวณคลองปากเตย และการจัดทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวา และแนวทางการจัดการปุ๋ยหมัก กิจกรรมพัฒนาแหล่งน้ำตามโครงการผังภูมิสังคมฯ จังหวัดราชบุรี กิจกรรมขุดลอก กำจัดวัชพืชที่ปกคลุมพื้นที่ร่องน้ำชุมชนท้าวอู่ทอง ถึงบริเวณสะพานรถไฟ ระยะทางประมาณ 500 เมตร (ช่วงที่1) กิจกรรมขุดลอก กำจัดวัชพืชที่ปกคลุมพื้นที่คลองปากเตย ช่วงสะพานรถไฟ ถึงถนนเลี่ยงเมืองราชบุรี ระยะทางประมาณ 1,000 เมตร (ช่วงที่2) กิจกรรมขุดลอก กำจัดวัชพืชที่คลองปากเตย ช่วงถนนเลี่ยงเมืองราชบุรี ถึงคลองอู่เรือ ระยะทางประมาณ 500 เมตร (ช่วงที่3) กิจกรรมพัฒนาพื้นที่ริมตลิ่งคลองปากเตย ช่วงครัวขวัญข่าว ถึงถนนเลี่ยงเมืองราชบุรี ระยาประมาณ 650 เมตร (พื้นที่ดำเนินกิจกรรมอยู่ในช่วงที่2)
หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถกักเก็บน้ำได้ สร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เป็นพื้นที่รองรับปริมาณน้ำที่เกิดในช่วงฤดูน้ำหลาก (น้ำท่วม) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ไหลสะดวกมากยิ่งขึ้น ลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม การดำเนินงานโครงการในวันนี้ ถือเป็นการร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาตามความต้องการของพี่น้องประชาชน เกิดการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบและยั่งยืน