NSM จับมือ สมาคมเครื่องบินกระดาษพับ จัดชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 17 หาตัวแทนไปแข่งนานาชาติที่ญี่ปุ่น

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ร่วมกับ สมาคมเครื่องบินกระดาษพับ เปิดเวทีการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 17 รอบชิงชนะเลิศ เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมเรียนรู้กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการผ่านการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับให้สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานที่สุด ณ โรงยิมเนเซียม 5 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี

ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า “NSM ร่วมกับ สมาคมเครื่องบินกระดาษพับ จัดการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 17 ขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมที่ผสานกระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการไว้ร่วมกันด้วยกิจกรรมการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้เห็นถึงศักยภาพของกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ในเรื่อง อากาศพลศาสตร์ที่ทำให้กระดาษแผ่นเดียวสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานที่สุด

โดยในปีนี้การแข่งขันประเภทร่อนนานถูกแบ่งออกเป็นเป็น 2 รุ่น ด้วยกัน คือ รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี และรุ่นทั่วไป โดยมีผู้ผ่านเข้ารอบทุกภูมิภาคทั่วประเทศจาก 8 สนามแข่งขัน ได้แก่ สนามภาคกลาง ณ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, สนามภาคตะวันออก ณ ม.บูรพา วิทยาเขตจันทบุรี, สนามภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยราชฏักสกลนคร, สนามภาคเหนือ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก และสนามภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี, วิทยาเขตหาดใหญ่) จำนวน 92 คน จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 1,196 คน มาเข้าร่วมการแข่งขันฯในรอบชิงชนะเลิศ”

โดยผลปรากฏว่า ประเภทร่อนนาน รุ่นไม่เกิน 12 ปี

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ดช.กิตติกวิน นายจิ่ง จากโรงเรียนวัดช่างเคี่ยน จ.เชียงใหม่ ทำสถิติได้ 12.05 วินาที

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ดช.ธนกร รักพรม จากโรงเรียนเสม็ดจวนวิทยาคม จ.นครศรีธรรมราช ทำสถิติได้ 10.65 วินาที

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ดช.วีรากร ลุงรน จากโรงเรียนวัดช่างเคี่ยน จ.เชียงใหม่ ทำสถิติได้ 10.47 วินาที

ประเภทร่อนนาน รุ่นทั่วไป

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายรัฐศาสตร์ สุขโข จากโรงเรียนหนองกราดวัฒนา จ.นครราชสีมา ทำสถิติได้ 16.61 วินาที

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายหม่อง ทองดี ประชาชนทั่วไป กรุงเทพฯ ทำสถิติได้ 15.90 วินาที

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายนรภัทร ทรงเต๊ะ จากโรงเรียนมิศบาฮุ้นอุลูม กรุงเทพฯ ทำสถิติได้ 14.78 วินาที

ดร.กรรณิการ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัลทุกท่าน ต้องขอชื่นชมถึงศักยภาพของเยาวชนและประชาชนไทย โดยหวังว่ากิจกรรมนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้กับคนไทยทุกคน และสามารถนำเอาความรู้ไปใช้ต่อยอดในชีวิตประจำวันได้ต่อไปในอนาคต สำหรับผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศของทั้ง 2 รุ่นจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ ณ ประเทศญี่ปุ่นต่อไป”