นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (SEOM: ซีออม) กับประเทศคู่เจรจาในเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ โดยมีประเด็นหารือสำคัญคือ การติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามพันธรกรณีความตกลงการค้าเสรี (FTA: เอฟทีเอ) ที่อาเซียนทำกับ 3 ประเทศ นับตั้งแต่มีผลใช้บังคับ ได้แก่ เอฟทีเออาเซียน-จีนมีผลใช้บังคับปี 2548 เอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่นมีผลใช้บังคับปี 2552 และเอฟทีเออาเซียน-เกาหลีมีผลใช้บังคับปี 2553 เป็นต้น และได้หารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเสรีเพิ่มเติมในสินค้าที่ยังคงมีภาษีระหว่างกัน
นางอรมน เสริมว่า ในส่วนของการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ที่ประชุมได้ขอให้สมาชิกให้เร่งบังคับใช้รายการกฎถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับใหม่ (Revised PSRs) ในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 รวมทั้งได้แสดงความพร้อมที่จะเริ่มหารือแนวทางการเปิดเสรีเพิ่มเติมจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA-JC) ปัจจุบัน เพื่อยกระดับความตกลงฯ รวมทั้งหารือเรื่องการดำเนินความร่วมมืออื่นๆ ที่สำคัญกับการค้ายุคปัจจุบัน เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การลดลงข้อกีดกันทางการค้าที่เกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการและการขจัด ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การค้าในภูมิภาคเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนอาเซียนได้ขอให้จีนเร่งพิจารณาสนับสนุนโครงการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลของอาเซียนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และโครงการสร้างความตระหนักของผู้ประกอบการเพื่อใช้ประโยชน์เรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าที่ปรับปรุง โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนได้อย่างเต็มที่
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ในส่วนของการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันให้พิธีสารที่แก้ไขความตกลงเอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น ฉบับที่หนึ่งที่เพิ่มเรื่องการเปิดเสรี การค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุนเข้ากับความตกลงเดิมที่เน้นการค้าสินค้า มีผลบังคับใช้โดยเร็วในสิ้นปีนี้ ซึ่งความตกลงฉบับปรับปรุงใหม่นี้ ญี่ปุ่นได้เปิดให้นักลงทุนอาเซียนเข้าไปลงทุนจัดตั้งธุรกิจ ถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 100 ในสาขาต่างๆ อาทิ บริการร้านอาหาร บริการสปา บริการโรงแรม บริการทัวร์และไกด์ บริการจัดประชุม บริการจัดเลี้ยง บริการจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ บริการโฆษณา บริการด้านการวิจัยและการพัฒนา และบริการอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น จึงเป็นโอกาสดีของนักลงทุนไทยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาบริการดังกล่าว สามารถเข้าไปลงทุนได้อย่างครบวงจร
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้เสนอที่จะช่วยอาเซียนเตรียมพร้อมรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ด้วย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น อินเตอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และบล็อกเชน (Blockchain) รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้เสนอให้จัดตั้งกลไกหารือด้านอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) กับอาเซียนด้วย
นางอรมน เสริมว่า ในส่วนของการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลี เนื่องจากปีนี้เป็นโอกาสพิเศษครบรอบความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี 30 ปี ซึ่งเกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN-Korea Commemorative Summit ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ณ เมืองปูซาน พร้อมจัดกิจกรรมคู่ขนาน ASEAN-Korea Business Forum ด้วย ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนเเละเกาหลีใต้ได้เน้นย้ำความตั้งใจที่จะขยายการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 220,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2563 ผ่านการดำเนินการต่างๆ เช่น การเปิดตลาดเพิ่มเติม การยกระดับเทคโนโลยี สร้างมาตรฐาน พัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนของ Startups เพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2560 มูลค่าการค้ารวมระหว่างอาเซียน-จีน อยู่ที่ 441.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกไปจีน 186.47 พันล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีน 254.53 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจีนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของอาเซียน ในขณะที่มูลค่าการค้ารวมระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น เป็น 219.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกไปญี่ปุ่น 105.79 พันล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 113.47 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของอาเซียน สำหรับมูลค่าการค้ารวมระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้ เป็น 153.68 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกไปเกาหลีใต้ 55.03 พันล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากเกาหลีใต้ 98.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของอาเซียน
—————————————-
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
18 กรกฎาคม 2562