“จุติ” รมว.พม. ทิ้งทวนภารกิจสุดท้าย เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ จ.ชุมพร

วันที่ 3 กันยายน 2566 เวลา 09.30 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร ณ หมู่ที่ 3 ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพร เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจและช่วยเหลือแม่เลี้ยงเดี่ยว อายุ 35 ปี ที่ต้องดูแลลูกสาว อายุ 10 ปี ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวตั้งแต่อายุ 6 ปี และป่วยติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ในเบื้องต้น ได้มอบเครื่องซักผ้า เตารีด โต๊ะรีดผ้า สำหรับประกอบอาชีพ มอบเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือครอบครัว และมอบเงินเพื่อซื้ออาหารเสริมบำรุงสุขภาพเด็กให้แข็งแรงมากขึ้น ทั้งนี้ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมคณะผู้บริหาร นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร เขต 1 หน่วยงานทีม One Home พม. จังหวัดชุมพร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอาสาสมัคร พม. ร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือ

นายจุติ กล่าวว่า วันนี้ เป็นการลงพื้นที่ปฎิบัติภารกิจครั้งสุดท้ายในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนของตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. โดยได้มาเยี่ยมให้กำลังใจและช่วยเหลือครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ประสบปัญหาความยากลำบาก ซึ่งคุณแม่ได้อ่านจดหมายถวายฎีกาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอความช่วยเหลือ ด้วยเสียงสั่นเครือพร้อมน้ำตากับลูกสาว เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่มีรายได้ เพราะต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูกสาว อายุ 10 ปี ที่ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและเป็นผู้ป่วยติดเตียง โดยพ่อของลูกได้ทิ้งไป อีกทั้งไม่มีบ้านเป็นของตนเอง ต้องอาศัยในที่ดินคนอื่น และที่สำคัญลูกสาวเป็นเด็กขยันเรียน และก่อนป่วยติดเตียง ได้เข้าประกวดคัดลายมือจนได้รางวัลที่ 1 แต่ลูกสาวป่วน จึงทำให้ไม่ได้ไปแข่งขันต่อ ซึ่งมีเป้าหมายคือ การได้ถ้วยรางวัลประกวดคัดลายมือของในหลวง รัชกาลที่ 10

ในขณะที่ลูกสาวที่ป่วยเขียนจดหมายว่า “ในหลวงเมตตาช่วยหนูด้วยนะคะ หนูอยากหาย หนูอยากไปเรียนหนังสือ หนูไม่มีเงินรักษา ถ้าหนูหาย หนูจะตั้งใจเรียนหนังสือ หนูอยากเป็นหมอ หนูจะเป็นหมอที่ดี ช่วยเหลือคนป่วยที่ไม่มีเงินรักษา เพราะหนูเข้าใจบางคนที่จน ไม่มีเงินรักษา เค้าทุกข์ทรมานมากเหมือนแม่และหนู ตอนนี้กินไม่ได้นอนไม่หลับ”

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ แม่เลี้ยงเดี่ยวมีกำลังใจสู้เต็มที่ และจะต้องมีอาชีพที่ยั่งยืน เป็นการช่วยเหลือจากครอบครัววิกฤตมาสู่ระบบพึ่งพิง พอเพียง ยั่งยืน และจะเป็นหนึ่งในกรณีศึกษา พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวใจสู้ แล้วทุกภาคส่วนเข้ามาให้การสนับสนุน และมีศูนย์ช่วยเหลือสังคมประจำตำบลคอยขับเคลื่อนการให้ความช่วยเหลือ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม่เลี้ยงเดี่ยวดังกล่าวได้เขียนจดหมายฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2566 โดยที่ผ่านมา กระทรวง พม. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การมอบเงินสงเคราะห์เด็ก เงินสงเคราะห์ครอบครัว และเงินกองทุนคุ้มครองเด็ก รวมถึงการวางแผนและให้ความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านและให้ครอบครัวสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเพียงพอและมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ที่อยู่อาศัย ชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และการศึกษาของเด็ก เป็นต้น

#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme