ปลายฤดูฝน ฝนหลวงฯ เร่งทำฝนบรรเทาวิกฤตภัยแล้งทั่วประเทศ พร้อมรับมือสถานการณ์ “เอลนีโญ”

วันที่ 1 กันยายน 2566 เวลา 09.30 น. นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก ทำให้ในหลายพื้นที่มีความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่อาศัยน้ำฝนมีปริมาณและการกระจายของฝนน้อยประกอบกับน้ำต้นทุนในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ รวมถึงแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีปริมาณลดน้อยลง และจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า สถานการณ์ “เอลนีโญ” มีแนวโน้มแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 และต่อเนื่องจนถึงปี 2567 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงสั่งการให้มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ จำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อเร่งทำฝนในช่วงปลายฤดูฝนโดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ที่เป็นที่ราบขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 2 ล้านไร่ ในรอยต่อ 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และยโสธร ที่ขณะนี้พี่น้องเกษตรกรมีการเพาะปลูก ข้าวนาปี ซึ่งอยู่ในระยะที่ข้าวมีความต้องการน้ำมาก เช่นเดียวกับนาข้าวในภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง รวมถึงสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็งของภาคใต้ ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมปฏิบัติการทำฝน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศทั้ง 11 หน่วยฯ จะสามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ดังนี้

ภาคเหนือ มี 3 หน่วย ที่ จ.เชียงใหม่ ใช้เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 2 ลำ จ.ตาก ใช้เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 2 ลำ และ จ.พิษณุโลก ใช้เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 2 ลำ และเครื่องบิน Super King Air 350 จำนวน 1 ลำ

ภาคกลาง มี 2 หน่วย ที่ จ.ลพบุรี ใช้เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 2 ลำ และ จ.กาญจนบุรี ใช้เครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 2 ลำ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 3 หน่วย ที่ จ.ขอนแก่น ใช้เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 1 ลำ และขนาดใหญ่ 1 ลำ จ.นครราชสีมา ใช้เครื่องบินขนาดใหญ่จำนวน 1 ลำ และ จ.สุรินทร์ ใช้เครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 3 ลำ

ภาคตะวันออก มี 1 หน่วย ที่ จ.ระยองใช้เครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 3 ลำ

ภาคใต้ มี 2 หน่วย ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้เครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 2 ลำ และ จ.นครศรีธรรมราช ใช้เครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 2 ลำ

การปฎิบัติการฝนหลวงในครั้งนี้ได้นำเทคนิคตามตำราฝนหลวงพระราชทานมาช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์เอลนีโญ่ที่มีความชื้นในอากาศต่ำ ซึ่งทำให้กระบวนการเจริญเติบโตของเมฆและการกระจายของเมฆต่ำ ทำให้มีปริมาณน้ำฝนน้อย และเน้นการปฎิบัติการขั้นตอนเลี้ยงให้อ้วน การปฎิบัติการในครั้งนี้ถึงแม้จะมีการกระจาย หน่วยฝนหลวงให้มีจำนวนมากเพื่อเพิ่มพื้นที่ช่วยเหลือให้มากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดของจำนวนอากาศยาน การปฎิบัติการครั้งนี้จึงใช้วิธีบูรณาการเพื่อเพิ่มจำนวนอากาศยานให้มีสมรรถนะที่เหมาะสม ตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ด้วยการปฎิบัติการและใช้อากาศยานร่วมกันของ หน่วยต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณฝนให้ตกมากในพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

นายสุพิศ กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด จัดหาแหล่งเก็บกักน้ำหรือภาชนะสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ประชาชน พี่น้องเกษตรกร สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารแจ้งสถานการณ์ความต้องการน้ำเพื่อขอรับบริการฝนหลวงได้เป็นประจำทุกวันที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภูมิภาค อาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ หน่วยงานอำเภอ/จังหวัด ช่องทางโซเชียลมีเดีย @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-1095100 ต่อ 410 หรือช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและบินเกษตร, Instagram, Tiktok, Twitter : @drraa_pr