วันที่ 31 สิงหาคม 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงเปิดงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 โดยมีผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกรมหม่อนไหม ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหม ส่วนราชการและเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ฮอลล์ 6-7 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรมหม่อนไหมมีภารกิจเกี่ยวกับหม่อนไหมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และมีเป้าหมายในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตามพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งมั่นสืบสานวัฒนธรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้คงอยู่กับปวงชนชาวไทย และเพื่อให้ผ้าไหมไทยได้รับการยอมรับในตลาดโลก พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องหมายนกยูงไทยให้เป็นเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ที่เน้นแหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และที่สำคัญต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น กรมหม่อนไหมจึงได้จัด “งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 18 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทยคุณภาพผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม รวมทั้งภารกิจและผลงานของกรมหม่อนไหมให้เป็นที่รู้จัก ตลอดจน เป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน ผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหมของเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง
สำหรับการจัด “งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 18 ภายใต้แนวคิด “ไหมไทยล้ำค่า สายใยแห่งภูมิปัญญา พัฒนาสู่สากล” โดยมีกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจมากมาย อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ การจัดแสดงเครื่องหมายตรานกยูงพระราชทาน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ประเภทผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าไหมแพรวา ผลงานการประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานและผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ประจำปี 2566 ผลงานของกรมหม่อนไหม และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับหม่อนไหม เป็นต้น รวมทั้งยังมีการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทย และสินค้าหม่อนไหม มากกว่า 200 ร้านค้า
ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาไหมไทยตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและในระดับสากล โดยไฮไลท์สำคัญของการจัดงานตรานกยูงพระราชทานฯ ในครั้งนี้ คือ นิทรรศการการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นการนำเสนอนิทรรศการพันธุ์หม่อน พันธุ์ไหมอนุรักษ์ ที่กรมหม่อนไหมได้รวบรวมและอนุรักษ์ให้คงอยู่ การนำเสนอไหมกินใบหม่อนและไหมที่กินใบพืชชนิดอื่น เช่น ไหมกระท้อน ไหมดาหลา ไหมมันสำปะหลัง และไหมอีรี่ เป็นต้น การนำเสนอการพัฒนาพันธุ์ไหมที่เหมาะสมในการผลิตผ้าห่มใยไหม ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดความชื้น ระบายเหงื่อและน้ำมันจากร่างกาย จึงทำให้รู้สึกแห้งสบายตัว และเย็นแม้ในค่ำคืนของฤดูร้อน นิทรรศการงานวิจัยผลิตภัณฑ์วัสดุทางการแพทย์จากไหมไทย ในส่วนของโครงร่างกระดูกและเต้านม นิทรรศการผ้าไหมลายดอกเอเดลไวส์ ซึ่งกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือ “จากพันธุ์ไม้ สู่แพรพรรณ” ซึ่งเป็นข้อมูลการออกแบบลายผ้าดอกเอเดลไวส์ ประกอบด้วย 5 เทคนิค ได้แก่ มัดหมี่ ยกดอก จก ขิด และบาติก โดยกรมหม่อนไหมจัดทำขึ้น เพื่อส่งต่อให้ช่างทอผ้าไหมของทุกภูมิภาคได้สานต่องานทอผ้าให้มีความหลากหลาย และเพิ่มมูลค่าให้แก่ผ้าไหมไทย
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ Silk Home ที่เป็นการจำลองการใช้ชีวิตประจำวันในห้องรูปแบบ Studio คอนโดมิเนียม โดยมีผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมเป็นหลัก ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ซึ่งผลิตภัณฑ์ใน Silk Home จะมีรายละเอียดของสินค้าและช่องทางการจำหน่ายที่สามารถเลือกซื้อสินค้าดังกล่าวได้ภายในงานที่ได้รับการการันตีคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจน มีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ของทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ซึ่งเป็นบุคคลที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ และสวมใส่ผ้าไหมไทยในประเทศต่างๆ รวมทั้งยังประชาสัมพันธ์การสวมใส่ผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอีกด้วย
สำหรับงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 จัดขึ้นไปจนถึงวันที่ 3 กันยายน 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 20.00 น. ณ ฮอลล์ 6-7 อิมแพ็ค เมืองทองธานี