บ้านเปือย จ.อำนาจเจริญ คว้ารางวัลกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนต้นแบบดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2566

กรมส่งเสริมการเกษตร คัดเลือกกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนต้นแบบดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2566กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเปือย จ.อำนาจเจริญ คว้ารางวัลชนะเลิศ มีผลิตภัณฑ์เด่นทั้ง ผ้าไหม ข้าวฮาง แจ่วบองปลาร้า และปลาส้ม ขณะที่กลุ่มบ้านดอนใหญ่ จ.อุบลราชธานี และบ้านโพธิ์ศรีสำราญ จ.หนองบัวลำภูรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนฯ ขึ้นในปี 2556 เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตของตนและครอบครัวในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างดีและมีความปกติสุข โดยน้อมนําหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต ตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยสามารถพึ่งตนเอง มีอาชีพมีรายได้ ทำให้สามารถปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัวได้ดีขึ้น มีกำลังสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลานส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นับเป็นเวลากว่า 10 ปีที่ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สนองพระราชดำริ ในการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนที่ได้รับการสนับสนุน รวมจำนวน 118 กลุ่ม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 20 จังหวัด และภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพังงา ระนอง กระบี่ และจังหวัดภูเก็ต และภาคเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย รวมทั้งสิ้น 25 จังหวัด สมาชิกกลุ่มได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตร จำนวน 30,540 ราย โดยได้เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กระบวนการกลุ่ม ความรู้ทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งมุ่งเน้นให้มีการผลิตอาหารในครัวเรือนเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคและแบ่งปันสมาชิกในชุมชน ถ้าเหลือจึงนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ สนับสนุนกิจกรรมทางการตลาด เกิดเป็นความเข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมการยกระดับกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนต้นแบบสร้างเครือข่ายในชุมชน และขยายผลระหว่างชุมชนต่อไป

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2566 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมกิจกรรมเพิ่มศักยภาพการพึ่งตนเองในระดับครัวเรือนและชุมชน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน เพื่อให้การพัฒนาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยได้ดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรสมาชิกกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน จำนวน 3,420 ราย ให้ได้รับความรู้ เทคโนโลยีด้านการพัฒนาศักยภาพการผลิต กลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน จำนวน 24 กลุ่ม ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเป็นกลุ่มต้นแบบในระดับจังหวัด และกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเป็นกลุ่มต้นแบบดีเด่นระดับประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบแก่กลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงอื่น ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันจะเป็นการกระตุ้นและพัฒนาศักยภาพให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกียรติคุณของกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีผลงานดีเด่นสู่สาธารณชนต่อไป จำนวน 5 กลุ่ม

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการจัดการคัดเลือกกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนต้นแบบดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2566 เรียบร้อยแล้ว โดยมีผลการคัดเลือก ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเปือย อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยกลุ่มมี การบริหารจัดการและมีกิจกรรมกลุ่มที่หลากหลาย ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าไหม กลุ่มผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์ (แจ่วบอง) กลุ่มผลิตแปรรูปข้าวสาร (ข้าวฮาง) และกลุ่มปลูกถั่วเขียว มีการพัฒนาผู้นำและสมาชิกกลุ่ม สร้างเครือข่ายทั้งในและนอกชุมชน สามารถต่อยอดขยายผลการดำเนินงานสู่ชุมชน เกิดความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนใหญ่ อำเภอตระการพืชผลจังหวัดอุบลราชธานี โดยสมาชิกทุกคนมีความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเป็นรูปธรรม สามารถลดรายจ่าย และสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ตลอดปี พืชผักสวนครัวในรูปแบบแปลงรวมได้รับมาตรฐาน GAP และ มาตรฐานผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ไทย (มกษ.9000) มีการพัฒนาผู้นำและสมาชิกกลุ่ม สร้างเครือข่ายทั้งในและนอกชุมชน

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพธิ์ศรีสำราญ อำเภอเมืองหนองบัวลำภูจังหวัดหนองบัวลำภู โดยกลุ่มหลากหลายกิจกรรมได้แก่ กลุ่มปลูกผักปลอดภัยแปลงรวม กลุ่มทอผ้าด้วยกี่กระตุกกลุ่มปั้นเตาอั้งโล่ กลุ่มผลิตข้าวกล้องเพื่อสุขภาพ กลุ่มสมุนไพร และกลุ่มแปรรูปสมุนไพร มีการพัฒนาผู้นำและสมาชิกกลุ่ม สร้างเครือข่ายทั้งในและนอกชุมชน

รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่

1. กลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงบ้านบางไทร อำเภอกระบุรีจังหวัดระนอง ประกอบด้วยกลุ่มปลูกผักปลอดภัย กลุ่มเลี้ยงหมูหลุม กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวเกรียบผักเหลียง น้ำสมุนไพร และผลไม้แช่อิ่ม กลุ่มทำปุ๋ยหมักและดินพร้อมปลูก มีการพัฒนาผู้นำและสมาชิกกลุ่มสร้างเครือข่ายทั้งในและนอกชุมชน

2. กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนบ้านเกาะไทร อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ประกอบด้วยกลุ่มผักและผลไม้ กลุ่มน้ำผึ้ง กลุ่มเครื่องแกง กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพร กลุ่มผ้าถุงปักและกระเป๋าทำมือ กลุ่มทำขนม กลุ่มประมง กลุ่มเลี้ยงสัตว์ กลุ่มจักสาน และกลุ่มน้ำพริก  มีการพัฒนาผู้นำและสมาชิกกลุ่ม สร้างเครือข่ายทั้งในและนอกชุมชน