จากความสำเร็จของโครงการ “ประมงร่วมอาสา…พาปลากลับบ้าน” ที่กรมประมงดำเนินการมา กว่า 3 ปี ในการที่จะพัฒนาและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่หนองหาร จังหวัดสกลนคร กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่บริเวณรอบแหล่งน้ำ ด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านนำเทคนิคการผสมพันธุ์ปลาโดยใช้ชุดอุปกรณ์เพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) และนำผลผลิตลูกปลาที่ได้ไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น ผลปรากฏว่า การดำเนินการกว่า 3 ปี สามารถเพิ่มจำนวนประชากรปลาไทยประจำถิ่นได้ถึง 103,056,000 ตัว ประชาชนในชุมชนโดยรอบแหล่งน้ำกว่า 49 ชุมชน ได้ใช้ประโยชน์ในการทำประมง พร้อมต่อยอดขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ภายใต้โครงการ “ปล่อยปลาลงทุ่ง” ในช่วงฤดูน้ำหลาก กว่า 15 พื้นที่ลุ่มต่ำและลุ่มเจ้าพระยาเป็นที่รองรับมวลน้ำป้องการการเกิดอุทกภัย และใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำธรรมชาติไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ให้กลายเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสำคัญของประชาชนอีกด้วย
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หลังกรมประมงดำเนินโครงการ “ประมงร่วมอาสา…พาปลากลับบ้าน” มากว่า 3 ปี โดยนำร่องโครงการใน 3 แหล่งน้ำสำคัญ ได้แก่ หนองหาร จังหวัดสกลนคร กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา และบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อพัฒนาและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำให้คงความหลากหลายในพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติ และจากการสำรวจ พบว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตปลาไทยที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำในหลายปีที่ผ่านมาทั้งจากธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ อาทิ ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาสร้อยขาว ปลากาดำ ปลาชะโอน และปลากดเหลืองขี้ลิง ฯลฯ ได้จำนวนมากถึง 103,056,000 ตัว สามารถสร้างรายได้กว่าปีละ 10.31 ล้านบาท อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมั่นคง และยังได้มีการขยายการดำเนินโครงการไปยังลำน้ำสำคัญที่เป็นสาขาของแม่น้ำสายใหญ่ในประเทศ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา อีกหลายแห่ง
การดำเนินโครงการในปี 2566 กรมประมงยังได้เล็งเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญอย่างต่อเนื่อง จึงได้ริเริ่มดำเนิน โครงการปล่อยปลาลงทุ่ง เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งสุโขทัย ทุ่งบางระกำ และลุ่มน้ำเจ้าพระยา 13 แห่ง ได้แก่ ทุ่งบางระกำ ทุ่งเชียงราก ทุ่งชัยนาท-ป่าสัก (ฝั่งซ้าย) ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งผักไห่ โครงการชลประทานโพธิ์พระยา ทุ่งเจ้าเจ็ด โครงการชลประทานพระยาบันลือ และโครงการชลประทานรังสิตใต้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวนี้ เป็นพื้นที่ที่กรมชลประทานดำเนินการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้เป็นที่รองรับและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูช่วงแล้งและชะลอมวลน้ำไม่ให้เกิดอุทกภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในช่วงเวลาน้ำหลาก
ทั้งนี้ การปล่อยน้ำเข้าพื้นที่นาข้าวหลังฤดูการเก็บเกี่ยว (เดือนกันยายน – ตุลาคม) น้ำจะท่วมเศษซากของต้นข้าวครอบคลุมเป็นบริเวณกว้าง เกิดแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ จึงกล่าวได้ว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากการเสียสละให้พื้นที่นาข้าวกลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำ ด้วยการสร้างพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นแหล่งจับปลาสร้างอาชีพและรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้
รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินการ 2 โครงการดังกล่าว จะสามารถฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญ อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างความมั่นคงของแหล่งอาหารชุมชน สร้างอาชีพสร้างรายได้จากการทำประมงของประชาชนในพื้นที่ ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืนอีกด้วย