วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC)โครงการชลประทานศรีสะเกษ นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยว่า สถานการณ์เอลนีโญยังทวีรุนแรง หวั่นจะแล้งยาว จึงได้วอนทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ
ทั้งนี้ ในจังหวัดศรีสะเกษ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่ระดับเก็บกักทั้ง 17 แห่ง เป็นจำนวนทั้งสิ้น 208.34 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเก็บกักได้ 122.04 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58.58 % ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วจำนวน 78.57 ล้าน ลบ.ม. หรือ 37.72% ขณะที่เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา เก็บกักน้ำได้รวม 139.44 ลัาน ลบ.ม. ปัจจุบันเก็บกักได้ 86.44 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 54.76% ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วจำนวน 41.43 ล้าน ลบ.ม. หรือ 27.64 %
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการลดความเสี่ยงในเรื่องของภัยแล้ง โดยให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ เนื่องจากสถานการณ์เอลนีโญ อาจมีผลกระทบให้แล้งยาวได้ โดยต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ลุ่มน้ำต่างๆ ทั้งลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล รวมถึงลุ่มน้ำย่อยในจังหวัดศรีสะเกษ
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า สถานการณ์เอลนีโญ ยังคงมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 และอาจลากยาวไปจนถึงปีหน้า จึงได้สั่งการให้หัวหน้าฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ด้วยการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกับการดำเนินการตาม 5 มาตการในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนของกรมชลประทาน ได้แก่
1. น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดทั้งปี
2. บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก
4. กักเก็บน้ำในเขื่อนไว้ให้ได้มากที่สุด
5. บริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย
เพื่อบรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากอ่างเก็บน้ำมีน้ำน้อยกว่า 80% ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตได้
ในขณะเดียวกันก็ขอให้ทุกภาคส่วนเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้วย เพราะอาจเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าจังหวัดศรีสะเกษ มีค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนรอบ 30 ปี จำนวน 1445.8 มิลลิเมตร โดยในช่วงเดือนกันยายนจะมีฝนตกปริมาณมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 278.2 มิลลิเมตร และในช่วงปี 2564 ถึง 2565 พบว่าเดือนกันยายนมีปริมาณฝนตก 447.4 และ 510.2 มิลลิเมตรตามลำดับ
ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าในเดือนกันยายนนี้อาจมีร่องมรสุมและพายุดีเปรสชันพัดผ่านจังหวัดศรีสะเกษเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษและเกาะติดสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนให้น้อยที่สุด