กรมโยธาฯ บูรณาการร่วมกับ จังหวัดระยอง ลุยกิจกรรมจัดทำฝายชะลอน้ำ​ บริเวณลำน้ำสาขาคลองชากมะพร้าว ภายใต้โครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างยั่งยืน

วันที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ลงพื้นที่จังหวัดระยอง เปิดกิจกรรมจัดทำฝายชะลอน้ำ บริเวณลำน้ำสาขาคลองชากมะพร้าว บริเวณหมู่ 5 ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ภายใต้โครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map) โดยอาศัยกลไกความร่วมมือการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในจังหวัดระยอง นำทีมโดยนายสุพจน์ ต่ออาจหาญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พร้อมด้วย นายธวัชชัย สุภาผล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดระยอง และนางสาวกัลยา ประสิทธิ์ภาคย์ นายอำเภอนิคมพัฒนา เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มีนโยบายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง และจัดทำแผนปฏิบัติงาน (ActionPlan) ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน โดยดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map) ครอบคลุมพื้นที่ 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล ทั่วประเทศ และเน้นย้ำให้มีการนำแผนไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้งให้กับพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม โดยน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และน้อมนำพระราชดำรัส “อารยเกษตร” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามตัวแบบการจัดการทรัพยากรน้ำ และลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ นำไปสู่การรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการจัดการน้ำหนมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

ในปี พ.ศ. 2565 จังหวัดระยองประสบปัญหาคลองทับมาไม่สามารถรองรับน้ำได้ และเกิดน้ำท่วมในพื้นที่เมืองระยอง จึงได้มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดระยอง ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำผังภูมิสังคมฯ เพื่อเร่งแก้ปัญหาเต็มพื้นที่จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 8 อำเภอ 58 ตำบล โดยพื้นที่นำร่องในการพัฒนาภายใต้โครงการพัฒนาตาม ผังภูมิสังคมฯ คือบริเวณลำน้ำสาขาคลองชากมะพร้าว ซึ่งเป็นลำน้ำที่เกษตรกรในพื้นที่นำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตร โดยลำน้ำอยู่ต่อเนื่องกับที่สาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นที่ลุ่มรับน้ำ จากลำน้ำสาขาคลองชากมะพร้าวและคลองหนองกวางในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีความต้องการจะพัฒนาเป็นแก้มลิงเพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการรองรับน้ำในอนาคต รวมถึงการพัฒนาเป็นแหล่งเศรษฐกิจชุมชนและลำน้ำสาขาคลองชากมะพร้าว เป็นลำน้ำที่ไหลผ่านเส้นทางสัญจรระหว่างชุมชน ซึ่งเป็นถนนลูกรังเมื่อมีน้ำไหลหลากและกระแสน้ำที่เชี่ยวทำให้เกิดการกัดเซาะจนท่อลอดชำรุด การทำกิจกรรมจัดทำฝายชะลอน้ำและการซ่อมแซมท่อลอดที่ชำรุดจะช่วยชะลอความแรงของน้ำหลาก และเก็บกักน้ำเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบได้ใช้เพื่อการเกษตร รวมถึงเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ให้สามารถใช้เส้นทางสัญจรด้วยความปลอดภัย ผลสำเร็จเกิดจากการบูรณาการของหน่วยงานระดับจังหวัดสังกัดกระทรวงมหาดไทย อำเภอนิคมพัฒนา เทศบาลตำบลมาบข่าพัฒนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาศัยกลไกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องจักร รถแบคโฮ pc 200 หินใหญ่ ทรายหยาบ กระสอบปุ๋ย และเสาเข็มไม้ ยาว 6.00 เมตร จากภาคเอกชน ในการจัดทำฝายและซ่อมแซมท่อลอดที่ชำรุด

หลังจากดำเนินการโครงการดังกล่าวแล้ว จะสามารถนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรกรรม และการอุปโภคได้อย่างทั่วถึง ทั้งยังสามารถ เป็นพื้นที่รองรับปริมาณน้ำที่เกิดในช่วงฤดูน้ำหลาก (น้ำท่วม) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ไหลสะดวกมากยิ่งขึ้น ลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ประชาชนได้ใช้เส้นทางสัญจรด้วยความปลอดภัย การดำเนินงานโครงการในวันนี้ ถือเป็นการร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคีเครือข่าย ในการแก้ไขปัญหาตามความต้องการของพี่น้องประชาชน เกิดการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

โอกาสนี้ทุกคนได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ เพื่อตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรดิน สร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ สร้างพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสวันดินโลก ภายใต้แนวคิด Soils, where food begins อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน