เร่งแก้ไขปัญหาขยะเกาะเต่าทั้งระบบ ดีเดย์ 1 กันยายน ร้านค้าเลิกขายเบียร์ขวด

กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมการท่องเที่ยว เทศบาลตำบลเกาะเต่า มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่าและชมรมรักษ์เกาะเต่า ได้ร่วมลงนามในโครงการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ พัฒนาระบบขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR) และระบบจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่เกาะเต่า เพื่อขับเคลื่อนให้เกาะเต่ามุ่งสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการศึกษากฎหมายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน เพื่อที่จะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างไม่ถูกต้อง โดยจะผลักดันให้ขยะเหล่านี้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) เพื่อที่จะให้ผู้ที่จำหน่ายบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ บนเกาะเต่าร่วมรับผิดชอบในการนำบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ กลับคืนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของตน และจะใช้เกาะเต่าเป็นพื้นที่นำร่องในการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จะนำขึ้นเกาะ ซึ่งมีภาคส่วนธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องบนเกาะเต่า ได้แก่ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า ชมรมรักษ์เกาะเต่า บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมให้ความร่วมมือที่ในการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ โดยเริ่มจากเบียร์ขวด ให้เป็นเบียร์กระป๋องอลูมิเนียมแทน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 โดยร้านค้าบนเกาะเต่าได้ให้ความร่วมมือที่จะดำเนินการร่วมกัน เพื่อที่จะลดปัญหาบรรจุภัณฑ์ที่จะต้องถูกนำไปกำจัด นอกจากนี้ จะรณรงค์ในการลดการใช้ขยะพลาสติกต่าง ๆ แบบใช้ครั้งเดียวหรือ Single use plastic เพื่อลดปริมาณที่จะต้องนำไปกำจัดรวมทั้งปริมาณที่อาจหลุดรอดไปเป็นขยะทะเล และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้ เพื่อที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะบนเกาะเต่าซึ่งมาพร้อมกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้เน้นความสำคัญในเรื่องการจัดการขยะโดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะ และความร่วมมือดังกล่าวมาจากภาคธุรกิจเอกชนบนเกาะที่ได้เล็งเห็นความสำคัญและมีความตระหนักในการที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันเพื่อให้เกาะเต่าเป็นแหล่งดำน้ำที่มีความสวยงาม ไม่มีขยะพลาสติกในทะเล ไม่มีขยะขวดแก้วที่จะตกค้างในพื้นที่ และมุ่งสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือ Eco – tourism ที่จะให้นักท่องเที่ยว ประชาชน ผู้ประกอบการ และภาครัฐ มีส่วนร่วมในการจัดการร่วมกันตั้งแต่การเลือกประเภทผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นไปยังเกาะเต่า โดยจะเน้นผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ได้ และยังเป็นการลดปริมาณขยะที่เทศบาลตำบลเกาะเต่าจะต้องนำไปกำจัดต่อไป

นายวัชรินทร์ ฟ้าสิริพร นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า กล่าวว่า เกาะเต่าเป็นแหล่งดำน้ำฝั่งอ่าวไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี ทำให้ปัญหาขยะที่เทศบาลฯ จะต้องดำเนินการจัดการมากขึ้นไปด้วย ในขณะที่บุคลากรและทรัพยากรต่าง ๆ ของเทศบาลฯ มีจำนวนจำกัด ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมทั้งนักท่องเที่ยว แรงงาน และประชาชน ที่จะให้เกิดความตกลงร่วมมือในการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์โดยระยะแรกจะเป็นการเปลี่ยนจากเบียร์ขวดไปเป็นเบียร์กระป๋อง ซึ่งผมต้องขอขอบคุณมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนหรือมูลนิธิ 3R ที่เป็นหน่วยประสานงานไม่ว่าจะเป็นบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการให้ความร่วมมือกับร้านค้าในเครือ เพื่อลดปริมาณขยะที่เป็นหน้าที่ของเทศบาลฯ ในการกำจัด และในระยะยาว จะช่วยให้นักท่องเที่ยวและประชาชนเกิดจิตสำนึกเมื่อเดินทางมาท่องเที่ยว ณ เกาะเต่า หรือเกาะอื่น ๆ ร่วมด้วย

นายประลอง ดำรงค์ไทย รองประธานมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) กล่าวว่า มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนในฐานะที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในการลดการใช้ (Reduce) เพิ่มการใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ให้แก่ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้ง จัดตั้งและพัฒนากลไกการประสานงาน เพื่อให้เกิดเครือข่ายขององค์กรและบุคคลที่มีเป้าหมายร่วมกัน ในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด 3R ยินดีที่จะร่วมสนับสนุนการประสานงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดกลไกที่จะนำร่องระบบการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตหรือ EPR เพื่อที่จะให้เกิดการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดยการให้ผู้ขายหรือผู้นำบรรจุภัณฑ์ขึ้นเกาะนำกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นแนวทางการจัดการรูปแบบใหม่ที่หลาย ๆ ประเทศได้มีการดำเนินการด้วยแล้ว