กรมประมง…เร่งยกระดับผลผลิต “ปลาสลิด” ปลาน้ำจืดเศรษฐกิจของไทยให้คงไว้ซึ่งคุณภาพ โดยวางแนวทางในการบริหารจัดการพันธุกรรม เพื่อประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ควบคู่กับการอนุรักษ์สายพันธุ์พื้นเมืองตามหลักพันธุศาสตร์ เพื่อฟื้นฟูประชากรปลาสลิดในธรรมชาติให้คงความอุดมสมบูรณ์สืบไป
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “ปลาสลิด” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichopodus pectoralis Regan, 1910 เป็นปลาน้ำจืดพื้นถิ่นของไทย พบแหล่งอาศัยแพร่กระจายทั่วประเทศ โดยมีแหล่งเพาะเลี้ยงสำคัญอยู่ที่ราบลุ่มทางภาคกลาง ปลาสลิดเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่มักจะถูกแปรรูปเป็นปลาแห้ง ปลาเค็ม และปลาแดดเดียว จำหน่ายในราคาสูงถึง 160-350 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูป เป็นปลาสลิดไร้ก้างพร้อมรับประทานราคาสูง ซึ่งนับว่ามีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปลาน้ำจืดชนิดอื่น โดยจากข้อมูลผลผลิตสัตว์น้ำจืดของกรมประมง ในปี พ.ศ. 2565 ไทยมีผลผลิตปลาสลิดถึง 9,550 ตัน คิดเป็นมูลค่า 621.480 ล้านบาท
แต่ด้วยการเลี้ยงปลาสลิดที่ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงนานถึง 8-10 เดือน ทำให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาสลิดได้เพียง 1 รอบ/ปี จึงนิยมเลี้ยงในบ่อที่มีขนาดใหญ่เพื่อปล่อยปลาได้จำนวนมาก โดยทั่วไปบ่อเลี้ยงจะมีขนาดเฉลี่ย 3 ไร่ ใช้เวลาเลี้ยงนาน 8-10 เดือน ได้ปลาสลิดขนาด 10-12 ตัว/กิโลกรัม ผลผลิตเฉลี่ย 500 กิโลกรัม/ไร่ กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร จึงมีแนวคิดในการปรับปรุงพันธุ์ปลาสลิดเพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโต เพื่อใช้ในการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เลี้ยงเชิงพาณิชย์ ลดระยะเวลาการเลี้ยง สามารถเลี้ยงได้หลายรูปแบบมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาสลิดได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรและเพิ่มปริมาณผลผลิตปลาสลิดให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด กระบวนการปรับปรุงพันธุ์ปลาสลิด เริ่มตั้งแต่ปี 2562 ด้วยวิธีการคัดเลือกแบบหมู่ จำนวน 2 รุ่น โดยใช้ปลาสลิดดอนนาจากจังหวัดปัตตานีเป็นประชากรเริ่มต้น คัดเลือกปลาที่มีน้ำหนักมากที่สุด 10 % จากประชากรทั้งหมดในแต่ละรุ่น มาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการผลิตพันธุ์ปลาสลิด ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงในพื้นที่ภาคใต้ โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า เมื่อนำปลาสลิดเลี้ยงในกระชังนาน 6 เดือน ที่ระดับความหนาแน่น 20 ตัว/ตารางเมตร ได้น้ำหนักเฉลี่ย 76.80 กรัม (13-14 ตัว/กิโลกรัม) ต่อมาในปี 2564 ได้นำวิธีการปรับปรุงพันธุ์ ด้วยการประมาณค่าศักยภาพทางพันธุกรรม (Estimate Breeding Value ;EBVs) มาใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ประชากรเริ่มต้นจาก 4 แหล่ง ได้แก่ พิษณุโลก บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี และชุมพร เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม ตลอดจนมีการใช้เครื่องหมาย Passive integrated transponder (PIT TAG) เพื่อระบุข้อมูลสัตว์น้ำรายตัว ซึ่งช่วยให้เพิ่มความแม่นยำและเพิ่มความก้าวหน้าในการคัดเลือกได้มากขึ้น
นอกจากนี้ กรมประมง ยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สายพันธุ์ปลาสลิดดั้งเดิม เพื่อเก็บรักษาแหล่งพันธุกรรมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมปลาสลิด จังหวัดชุมพร ภายใต้แผนปฏิบัติงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ. สธ.) โดยได้รวบรวมปลาสลิดธรรมชาติจากตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร มาเพาะพันธุ์และอนุบาลให้ได้ลูกปลาขนาด 2 – 5 เซนติเมตร แล้วนำไปปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำดั้งเดิม โดยมีเป้าหมาย 50,000 ตัว/ปี
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า…กรมประมงยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการวิจัยด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมการแปรรูปปลาสลิดเพื่อให้ได้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และเพิ่มศักยภาพให้กับสินค้าปลาสลิดในตลาดโลกต่อไป สำหรับเกษตรกรท่านใด สนใจข้อมูลการเพาะเลี้ยงปลาสลิด สามารถติดต่อขอข้อมูลการเลี้ยงปลาสลิดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง โทรศัพท์ 077-510-310