กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และองค์กรเพื่อพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID-IGNITE) เชิญผู้แทนจาก 3 เสาประชาคมอาเซียนร่วมประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียนสมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 3/50 รับกังวลผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 เคาะเดินหน้าร่างยุทธศาสตร์อาเซียนรับมือ ก่อนเสนอระดับนโยบายทั้ง 3 เสาพิจารณา
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID-IGNITE) จัดประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียนสมัยพิเศษ (Special Meeting of the Committee of the Whole: Special CoW) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมเซนทารา แกรนด์ แอท เซนทรัลเวิลด์ เพื่อหารือการเตรียมความพร้อมอาเซียนรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ 4IR โดยการประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนของคณะทำงานในสาขาต่างๆ ใน 3 เสาประชาคมอาเซียน (เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการเมืองและความมั่นคง) ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เนื่องจากประเด็น 4IR เป็นเรื่องใหม่สำหรับอาเซียน จึงยังไม่มีการหารือในประเด็นที่อาจมีความคาบเกี่ยวระหว่างสาขาและระหว่างเสา ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องมอบฝ่ายเลขาธิการอาเซียนไปจัดทำเอกสารเพื่อนำเสนอร่างยุทธศาสตร์อาเซียนในการรับมือกับ 4IR เสนอระดับนโยบายของอาเซียนทั้ง 3 เสา พิจารณาต่อไป
นางอรมน เสริมว่า การประชุมครั้งนี้ สำนักเลขาธิการอาเซียนได้แสดงความกังวลว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ 4IR จะส่งผลให้กว่าร้อยละ 50 ของแรงงานในประเทศสมาชิกอาเซียนถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ ในทางกลับกันเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้น อาจทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานใหม่ๆ เพื่อทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ประชุมจึงได้ระดมความเห็นถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และความพร้อมของอาเซียนใน 5 ประเด็น ได้แก่ (1) นวัตกรรมและเทคโนโลยี (2) ทรัพยากรมนุษย์ (3) กรอบกฎระเบียบ (4) ความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐาน และ (5) การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อหารือถึงความท้าทายและเสนอแนวทางในการรับมือร่วมกัน โดยเห็นพ้องว่าอาเซียนจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง 1) การประสานการทำงานระหว่างสาขาและระหว่างเสา เพื่อให้การทำงานสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันและเอื้อประโยชน์ต่อกัน 2) การแบ่งปันข้อมูลการดำเนินงานของแต่ละสาขาให้ได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึงและพร้อมเพรียง เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และ 3) การกำหนดยุทธศาสตร์ของอาเซียนเพื่อรับมือกับ 4IR นอกจากนี้ สำหรับคณะทำงานรายสาขาของอาเซียน ที่ประชุมเห็นว่าอาจต้องเตรียมความพร้อมด้าน 4IR เช่น วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ผู้ประกอบการขนาดเล็กและรายย่อย ทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองผู้บริโภค อาหาร เกษตรและป่าไม้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 7 ของ GDP ของอาเซียน (2.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2568 เศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยให้มูลค่า GDP ของอาเซียนเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
——————————————-
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
15 กรกฎาคม 2562