กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในการดำเนินการจัดทำผังภูมิสังคมฯ (Geo – social Map) โดยจัดทำข้อมูลภูมิสังคม ในเรื่องแหล่งน้ำและที่อยู่ของน้ำตามสภาพข้อเท็จจริงที่เคยเป็นมาตั้งแต่ในอดีตจากผู้ที่รู้จริง นั่นคือ “พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/ตำบล/หมู่บ้าน”
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) ซึ่งเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชา มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนการจัดทำผังภูมิสังคมฯ ทั่วประเทศ 76 จังหวัด เพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดโครงการและกิจกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งให้กับประชาชน พัฒนาเครือข่ายการทำงานแบบบูรณาการของผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับผู้นำชุมชน ประชาชน และภาคีเครือข่าย
พร้อมทั้งกำชับให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดทุกจังหวัด โครงการ/กิจกรรมพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ มาดำเนินการแบบไม่ใช้งบประมาณ หรือใช้งบประมาณไม่มาก โดยอาศัยกลไกความร่วมมือการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาคเอกชน และภาคประชาชน และจิตอาสา ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่ทุกมิติ
ปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการจัดทำผังภูมิสังคม เพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) แล้วเสร็จในทุกตำบล ได้แผนงาน/โครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ ที่ผ่านการประชุมคณะกรรมการระดับอำเภอ 878 อำเภอทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 88,085 โครงการ เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ 29,248 โครงการ ปัจจุบันมีอำเภอที่ดำเนิน กิจกรรม/โครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ อย่างน้อย 1 โครงการ จำนวน 478 อำเภอ คิดเป็นร้อยละ 54 ของทั้งประเทศ
ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2567 กรมโยธาธิการและผังเมือง มีเป้าหมายการดำเนินโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษาโครงการ 72 พรรษา 7,200 โครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ