วันที่ 24 สิงหาคม 2566 // สปป.ลาว // นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 หรือ 17th AMME (the 17th ASEAN Ministerial Meeting on the Environment) ในระหว่างวันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2566 ณ นครหลวงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกับคณะผู้แทนทั้งจากสำนักงานปลัดกระทรวงฯ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรน้ำ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณากำหนดนโยบาย ข้อการตัดสินใจ รวมถึงแผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน
“ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 นี้ ได้มีการรับรองเอกสารสำคัญ ได้แก่ ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (ASEAN Joint Statement on Climate Change to UNFCCC COP 28) ที่จะนำไปนำเสนอในที่ประชุม COP 28 ที่จะมีขึ้น ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในช่วงระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้ เพื่อแสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงความร่วมมือของภูมิภาคอาเซียนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการรับรองแผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (ASEAN Action Plan on Invasive Alien Species: IAS) เพื่อยกระดับความร่วมมือในการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศที่สำคัญประการหนึ่ง” นายจตุพร กล่าว
นายจตุพร กล่าวเพิ่มเติมว่า “และสิ่งสำคัญ ที่เป็นเรื่องน่ายินดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ คือ อุทยานแห่งชาติ 2 แห่งของประเทศไทย ได้รับการรับรองให้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียน (ASEAN Heritage Park: AHP) แล้วอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 56 และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 57 แสดงถึงศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ในการคงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศจนมีความสำคัญในระดับอาเซียน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์ดูแลพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง และทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยต่อไป”
“อีกเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้ คือ การเข้ารับรางวัล ASEAN Eco-School ระดับมัธยมศึกษาและระดับประถมศึกษา ของโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านหัวหิน ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีการพัฒนาการเรียนการสอนตามหลักการของโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) หรือโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นศูนย์การเรียนรู้โรงเรียน Eco-School ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การดำเนินงานร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่นำแนวคิดการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ หรือ Whole School Approach ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่
– ด้านนโยบาย
– ด้านการจัดการเรียนการสอน
– ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
– ด้านการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม
มาเป็นกรอบในการพัฒนาโรงเรียน จนมีการสร้างความตระหนักและจิตสำนึกด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง มีการจัดกระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาให้กับผู้เรียนในทุกระดับชั้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างเด็กและเยาวชนในการเติบโตขึ้นเป็น “พลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม” ของประเทศต่อไป นอกจากนี้ นายมนตรี เจือไธสง จากโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านหัวหิน ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้ารับรางวัล ASEAN Youth Eco-Champions ในการประชุมครั้งนี้อีกด้วย” นายจตุพร กล่าว
นายจตุพร กล่าวเสริมว่า “และในการมาเข้าร่วมประชุม ณ สปป.ลาว ครั้งนี้ ยังได้เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างสวนรุกขชาติไทย – ลาว ณ โรงเรียนมัธยมสมบูนนาซอน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับกรมสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว เพื่อพัฒนาให้เป็นสวนรุกขชาติและศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรของ สปป.ลาว ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการอนุรักษ์พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อให้โครงการสวนรุกขชาติไทย – ลาว แห่งนี้เกิดความยั่งยืนต่อไป”