วธ. จัด “วัฒนธรรมสร้างสรรค์สัญจร” ออนทัวร์สู่สถานศึกษา 4 ภูมิภาค 4 โรงเรียน

วธ. จัด “วัฒนธรรมสร้างสรรค์สัญจร” ออนทัวร์สู่สถานศึกษา 4 ภูมิภาค 4 โรงเรียน ชวนนักเรียน เด็กเยาวชน เครือข่ายศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในสถานศึกษา-นอกสถานศึกษา กว่า 850 คน เปิดพื้นที่สร้างสรรค์-ให้เยาวชนแสดงผลงานและร่วมทำกิจกรรมกับศิลปินดารา-ยูทูบเบอร์และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง พร้อมจัดเวทีเสวนา “เยาวชนไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง” ส่งเสริมการเรียนรู้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตั้งเป้าขยาย-พัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมให้เกิดความเข้มแข็ง-สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ภารกิจการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมเป็นอีกภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ในปี 2566 ซึ่งการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรม จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับคนในชาติ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งถือเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ เกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมในการรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทยและร่วมเฝ้าระวังกระแสวัฒนธรรมที่เบี่ยงเบนที่มากับสื่อในยุคสื่อใหม่ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ในปัจจุบันโดยเฉพาะภัยคุกคามรูปแบบใหม่ (Hybrid Threats) ในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นการพัฒนาเยาวชนในศตวรรษที่ 21 จึงต้องเริ่มปลูกฝังค่านิยมและคุณธรรมจริยธรรม การรู้เท่าทันสื่อและภูมิคุ้มกันทางสังคมในมิติต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า วธ. โดยกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมจึงจัดกิจกรรม “วัฒนธรรมสร้างสรรค์สัญจร” ขึ้นใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ครั้งที่ 1 ภาคกลางและภาคตะวันออก วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ณ โรงเรียนบางแพปฐมพิทยา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ครั้งที่ 2 ภาคใต้ วันที่ 28 สิงหาคม 2566 ณ โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 1 กันยายน 2566 ณ โรงเรียนสุรวิทยาคาร อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ และครั้งที่ 4 ภาคเหนือ วันที่ 4 กันยายน 2566 ณ วิทยาลัยเทคนิคน่าน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน

“รูปแบบกิจกรรมดังกล่าวจะเชิญชวนเด็ก เยาวชน นักเรียนและเครือข่ายศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านโดยเป็นผลงานของเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัด ชมนิทรรศการเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในมิติทางวัฒนธรรม และการเปิดรับสมัครเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมกับ วธ. นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “เยาวชนไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การรู้เท่าทันภัยสื่อออนไลน์รูปแบบใหม่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมในมิติทางวัฒนธรรม นอกจากนี้จะมีการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ร่วมทำกิจกรรมกับศิลปินดารา ยูทูบเบอร์และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ซึ่งจะมาถ่ายทอดเรื่องราวการดำเนินชีวิต (สไตล์) ของเน็ตไอดอล การใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กเยาวชน” นางยุพา กล่าว

อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรม “วัฒนธรรมสร้างสรรค์สัญจร” ในปีนี้จะมีเด็กและเยาวชนใน 4 ภูมิภาค ซึ่งมาจาก 45 โรงเรียนและร่วมกิจกรรมกว่า 850 คน ซึ่งวธ.มีเป้าหมายในการสร้าง ขยาย และพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมให้สามารถดำเนินงานด้านการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการเป็นพลเมืองที่ดีในยุคดิจิทัล และเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงเครือข่ายอาสาสมัครฝ้าระวังทางวัฒนธรรมได้ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญต้องการสร้างแกนนำเยาวชนที่สามารถพัฒนาให้เป็นต้นแบบที่ดีต่อเด็กและเยาวชนที่พร้อมขยายเครือข่ายในแต่ละกลุ่มเพื่อให้เป็นเยาวชนคุณภาพ