นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดโครงการให้ความรู้กับเกษตรกรเรื่องไผ่ เศรษฐกิจของไผ่ที่จังหวัดภาคใต้หลายจังหวัดและมีผู้นำกลุ่มเกษตรกรได้เดินทางไปดูงานที่ภาคเหนือโดยเมื่อ 3 ปีที่แล้วเกษตรกรจากภาคใต้ได้นำกล้าไผ่ซางหม่นไปลองปลูกที่จังหวัดยะลา ปรากฏว่าปีต่อปีไผ่เจริญเติบโตและแตกกอเร็วมากกว่าที่ภาคเหนืออาจด้วยสภาพดินและน้ำน่าจะดีกว่า เกษตรกรที่ภาคใต้จึงสนใจว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจไผ่ได้อย่างไร จึงเสนอเรื่องโมเดลการทำหัตถกรรมการทำประโยชน์จากไผ่อย่างง่าย เช่น เรื่องการแปรรูปไผ่เป็นตะเกียบ ไม้บาร์บีคิว ไม้จิ้มฟัน หรืออื่น ๆ
ซึ่งเกษตรกรให้ความสนใจกันมาก ต่อมาทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอบต.) แจ้งว่ามีบริษัทด้านพลังงานมาจากประเทศเกาหลี ทราบว่าที่จังหวัดยะลาเกษตรกรให้ความสนใจปลูกไผ่จึงได้เดินทางไปเจรจานำมาสู่ภารกิจ ศอบต.ร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา ส่งเสริมปลูกไผ่เพื่อนำไปทำเป็นพลังงานชีวมวลส่งออกไปประเทศเกาหลี นำมาซึ่งการบันทึกความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแนวทางการส่งเสริมเกษตรผสมผสานผ่าน “การปลูกไผ่เศรษฐกิจ” พืชแห่งอนาคต
โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างสภาเกษตรกรแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชนจากประเทศเกาหลีใต้ 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทดีเค เอเนอร์จี จำกัด , บริษัท วูแอม คอร์เปอเรชั่น , บริษัท จีบี เอเนอร์จี จำกัด , บริษัท วู้ดพลัส จำกัด รวมทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดย สภาเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุมสภาเกษตรกรจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล ปฏิบัติภารกิจคือรวบรวม คัดกรองและคัดเลือกสมาชิกเกษตรกร องค์กรเกษตรและเครือข่ายสมาชิกองค์กรสภาเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้เน้นเกษตรกรรายย่อยเพื่อร่วมโครงการฯด้วยการเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกไผ่เศรษฐกิจควบคู่ไปกับการทำเกษตรผสมผสาน ให้ได้พื้นที่การเพาะปลูกไผ่เศรษฐกิจและพืชพลังงานที่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น้อยกว่า 300,000 ไร่ ในระยะเวลา 3 ปี และตามกรอบเวลาดำเนินโครงการ 21 ปีตามที่กำหนด
โดยให้เห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ประสานแผนการทำงานให้สอดคล้องกับภาคเอกชนและการสนับสนุนของรัฐ โดยทางประเทศเกาหลีใต้ขอให้จัดหาเกษตรกรและพื้นที่ปลูกอย่างน้อย 300,000 ไร่ เพื่อปริมาณวัตถุดิบที่มากพอจะลงทุนได้ และได้กำหนดเงินลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาท เพื่อจัดตั้งโรงงานแปรรูปเบื้องต้น โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน นำไผ่มาสับ ป่น อัดแท่ง จัดส่งไปโรงงานใหญ่ที่กำลังจัดตั้งขึ้นแล้วนำวัตถุดิบเหล่านี้ส่งออกไปทางเรือ ซึ่งเบื้องต้นต้องไปสำรวจเส้นทางท่าเรือที่เหมาะสมในการส่งออก เป้าหมายพื้นที่นำร่องปี 2562 คือ ตำบลกาบัง จังหวัดยะลา อย่างน้อย 3,000 ไร่ กับสายพันธุ์ “ซางหม่น” และ “บง” ด้วยเนื้อหนา ตัน น่าจะได้ชีวมวลมาก ปริมาณมาก โดยสภาเกษตรกรจังหวัดลำปางทำหน้าที่จัดเตรียมกล้าไผ่ เอกสาร จัดเตรียมเกษตรกรร่วมกับท้องถิ่น โดย 4 บริษัทเอกชนจากประเทศเกาหลีใต้จะเป็นหน่วยรับซื้อกำหนดอัตราการซื้อขายที่ราคาระหว่าง650-700 บาทต่อตัน เป็นระยะเวลา 21 ปี (พ.ศ. 2563-2583) ซึ่งการกำหนดราคาข้างต้นจะเป็นไปตามราคามาตรฐานอ้างอิงตลาดต่างประเทศและพิจารณาถึงประโยชน์และรายได้ของเกษตรกรเป็นสำคัญ
“ใคร ๆ ก็ทราบว่าปาล์มน้ำมันกับยางพาราโอกาสน้อยมากที่ราคาจะทะยานขึ้นไปเหมือนเมื่อก่อน เพราะฉะนั้นทางเลือกอื่นจึงมีความจำเป็นมาก สภาเกษตรกรฯจึงเสนอไปว่าลองนำไผ่ไปปลูกดู ก็ปรากฏว่ามันเกิดได้ ทุกสัดส่วนของไผ่ทั้งข้อ กิ่ง ก้าน ปลาย โคน ราก เอามาสับ ป่น ใช้ประโยชน์ขายได้หมด ปลูกครั้งเดียวตัดได้ตลอดชีวิต จึงมั่นใจได้ว่าถ้าโครงการนี้เริ่มเดินหน้าภายใน 3 ปี 5 ปีพื้นที่ปลูกไผ่ที่ภาคใต้ก็จะเป็นแปลงใหญ่มาก เกษตรกรเองก็จะร่วมกันปลูกเพราะว่ามันสร้างรายได้ได้ดี สร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้มากและก็ยั่งยืนด้วยผมเชื่ออย่างนั้น” นายประพัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติยังได้กล่าวแนะนำว่า เมื่อปลูกไผ่แล้วก็ควรปลูกแซมด้วยไม้ยืนต้นที่มีราคาชนิดอื่น อาทิเช่น ไม้เทพทาโร ไม้ตะเคียนทอง ไม้เคี่ยม ไม้สยา ไม้ดีๆที่มีมูลค่าเพราะป่าไม้ได้แก้กฎหมายแล้ว ไม้มีค่าทั้งหลายที่ขึ้นในพื้นที่ของประชาชนสามารถจะตัด ฟัน ซื้อขายได้อย่างเสรีเพราะถือเป็นกรรมสิทธิ์เจ้าของที่ จึงขอให้เกษตรกรวางแผนในการปลูกเพื่อการเกษตรที่มั่นคงและยั่งยืนกว่า เพื่ออนาคตของเกษตรกรเอง
………………………..……………………………………