กรมชลประทาน ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ คลองเปรมประชากร รับมือฝนช่วยบรรเทาน้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑล

วันที่ 17 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ จังหวัดปทุมธานี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่คลองเปรมประชากร

โดยมี นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายยงยส เนียมทรัพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายวีรวัฒน์ ผสมทรัพย์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมพร้อมสรุปผลการดำเนินงาน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองเปรมประชากร ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำหลากในช่วงฤดูฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการติดตั้งตะแกรงและเครื่องคราดขยะ พร้อมปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำประตูระบายน้ำเปรมใต้รังสิต มีการขุดลอกคลองเปรมประชากร ตั้งแต่ช่วงคลองรังสิตฯ จนถึงสถานีสูบน้ำเปรมเหนือบางปะอิน ก่อสร้างประตูระบายน้ำกึ่งถาวรคลองพุทรา 1 และ 2 ก่อสร้างประตูระบายน้ำกึ่งถาวรคลองเชียงรากน้อย 1 ปรับปรุงประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองเชียงรากน้อย พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 2 เครื่อง ก่อสร้างประตูระบายน้ำกึ่งถาวรบางสิงห์ ก่อสร้างประตูระบายน้ำกึ่งถาวรบางหลวง รวมทั้งก่อสร้างสะพานข้ามคลองเปรมประชากร จำนวน 3 แห่ง โดยจะดำเนินการร่วมกับ 12 มาตราการรองรับฤดูฝนที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด และ 5 มาตการในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนของกรมชลประทาน ได้แก่

1. น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ

2.บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3.ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชดดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก

4.กักเก็บน้ำในเขื่อนไว้ให้ได้มากที่สุด

5.บริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เพื่อบรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีแผนดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพิ่มเติมในปี 2567 อีก 7 โครงการ ได้แก่

1. ก่อสร้างสะพานในเขตคลองเปรมประชากรตั้งแต่ช่วงคลองเชียงรากน้อย-คลองรังสิต จำนวน 5 แห่ง

2. ก่อสร้างประตูระบายน้ำกึ่งถาวรคลองคู

3. ก่อสร้างประตูระบายน้ำกึ่งถาวรคลองบางหวาย

4. ปรับปรุงประตูเรือสัญจรและอาคารประกอบ ประตูระบายน้ำเปรมเหนือรังสิต

5. ปรับปรุงประตูเรือสัญจรและอาคารประกอบ ประตูระบายน้ำกลางคลองเปรมปรชากร

6. ปรับปรุงประตูเรือสัญจรและอาคารประกอบ ประตูระบายน้ำเปรมเหนือ บางปะอิน

7. ปรับปรุงประตูเรือสัญจรและอาคารประกอบ ประตูระบายน้ำเปรมใต้รังสิต

ทั้งนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานชลประทานที่11 สำนักบริหารโครงการ สำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม สำนักเครื่องจักรกล ร่วมกันเร่งรัดดำเนินงานในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ตามแผนที่กำหนด สามารถช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ดียิ่งขึ้น