วันที่ 17 สิงหาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดกิจกรรมงานวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 “ระลึกถึงมาเรียม ยามีล ร่วมใจกันรักษ์พี่น้องและพ่อแม่พะยูนของไทย” โดยท่านจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบหมายให้นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี พร้อมกันนี้ นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวต้อนรับ ในโอกาสนี้ นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) พร้อมด้วยพลเรือตรีภุชงค์ รอดนิกร เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานมูลนิธิอันดามัน ตลอดจนคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวง ทส. ทัพเรือภาคที่ 3 ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ องค์กร ชุมชนชายฝั่ง และภาคีเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ รวมถึงนักเรียน นักศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมงานกว่า 500 คน ณ บริเวณเวทีกลางจัดงาน สวนสาธารณะเทศบาลเมืองกระบี่ อ.เมือง จ.กระบี่
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า 4 ปีแห่งการจากไปของมาเรียมและยามีลพะยูนน้อยแห่งทะเลอันดามัน ทำให้สังคมหันมาสนใจในการอนุรักษ์พะยูน และตระหนักถึงปัญหาของขยะทะเลกันมากขึ้น ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช และหน่วยงานในสังกัดได้ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการทำงานเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพะยูน รวมถึงสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลไทยมาโดยตลอด ผ่านกระบวนการทำงานภายใต้ “มาเรียมโปรเจค” ซึ่งจากการสำรวจประเมินประชากรพะยูนในปี 2565 พบพะยูนประมาณ 273 ตัว และในปี 2566 อยู่ระหว่างการสำรวจในพื้นที่แหล่งอาศัยพะยูนทั้ง 13 แห่ง ประกอบด้วย 1.บริเวณเกาะลิบง เกาะมุก และอ่าวสิเกา จังหวัดตรัง 2.เกาะศรีบอยา เกาะปู เกาะจำ และอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ 3.เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ อ่าวพังงา จังหวัดพังงา อ่าวป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต 4.เกาะลิดี เกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล 5.เกาะพระทอง จังหวัดพังงา 6.หมู่เกาะกรูด จังหวัดตราด 7.อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี 8.ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง 9.อ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 10.อ่าวทุ่งคาสวี จังหวัดชุมพร 11.อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี 12.อ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี และ 13.อ่าวเตล็ด จังหวัดนครศรีธรรมราช จากความร่วมมือในการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 1 นั้น ถือว่าผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจ เพราะเราสามารถเพิ่มจำนวนพะยูนในธรรมชาติได้เพิ่มขึ้นและยังสามารถออกกฎกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศให้แหล่งอาศัยของพะยูนในอำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งในอนาคต จะเดินหน้าสานต่อการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2568) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการเพิ่มจำนวนประชากรของพะยูนในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา ต้องขอชื่นชมกับพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว และภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน แก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกมิติตั้งแต่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการปัญหาขยะทะเลตั้งแต่ต้นทางก่อนลงสู่ทะเล อีกทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการจัดการแบบเต็มรูปแบบอีกด้วย
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) กล่าวเสริมว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 เป็นวันที่พะยูนมาเรียมเสียชีวิต และต่อมาพะยูนยามีลก็เสียชีวิตเช่นกัน ลูกพะยูนทั้งสองตัวถูกพบในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยสาเหตุหลักของการตายเกิดจากการพลัดพรากจากแม่ที่คอยดูแลให้นม แล้วมีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากมีขยะอยู่ในร่างกาย เรื่องราวของลูกพะยูนขณะนั้นมีผลทำให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับประเด็นการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเล และตระหนักถึงปัญหาขยะทะเลที่เป็นสาเหตุการตายของพะยูนมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงมาเรียมและยามีล จึงกำหนดให้วันที่ 17 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ในการนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำเสมอว่า กระทรวงฯ ไม่เคยหยุดทำงานเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพะยูนรวมถึงสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลไทย และตนได้หารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเร่งดำเนินการเพิ่มจำนวนประชากรพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล พร้อมกำชับให้หน่วยงานในสังกัดกรม ทช. เดินหน้าสานต่อการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 2 (2566-2568) ตลอดจนเร่งบูรณาการร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ผู้ประกอบการ และประชาชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด โดยเฉพาะพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ต่อไป
ดังนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เล็งเห็นถึงสิ่งสำคัญในการอนุรักษ์พะยูน จึงจัดกิจกรรมงานวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 “ระลึกถึงมาเรียม ยามีล ร่วมใจกันรักษ์พี่น้องและพ่อแม่พะยูนของไทย” ขึ้น ระหว่างวันที่ 16 – 17 สิงหาคม 2566 เพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกแก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พะยูน และแหล่งหญ้าทะเลของไทย ตลอดจนจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่การดำเนินโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริฯ ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการด้านการอนุรักษ์พะยูน และหญ้าทะเลของหน่วยงานต่างๆ การออกบูทจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง องค์กรเอกชน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งมีเวทีเสวนาให้ความรู้วิชาการในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคตพะยูนไทย” รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “เรื่องเล่าน้องมาเรียม ยามีล สู่การจัดการพะยูน และแหล่งหญ้าทะเลของประเทศไทย นอกจากนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมปลูกฟื้นฟูหญ้าทะเล และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ณ บริเวณอ่าวน้ำเมา ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ ซึ่งจัดโดย ทัพเรือภาคที่ 3 กรม ทช. กรม อส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
สุดท้ายนี้ ตนขอฝากถึงพี่น้องประชาชน เนื่องในวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ 17 สิงหาคม ของทุกปี เราจะมาร่วมกันแสดงความยินดีถึงความสำเร็จ ที่ทุกฝ่ายต่างร่วมมือช่วยกันทำให้จำนวนพะยูนในธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และสิ่งสำคัญต้องขอขอบคุณองค์กรพันธมิตรที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริม อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะทรัพยากรพะยูนที่นับวันจะสูญหายไปจากท้องทะเลไทยให้กลับมามีจำนวนเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไป “นายอภิชัย รรท.อทช.กล่าวทิ้งท้าย“