ศน. ผุดไอเดียส่งเสริม Soft Power จัดประชุมคณะกรรมการศาสนิกสัมพันธ์ พร้อมเวทีเสวนา “การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วย Soft Power ในมิติศาสนา”

กรมการศาสนา กำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “คณะกรรมการศาสนิกสัมพันธ์ส่วนกลางและจังหวัด” เพื่อเสริมสร้างพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ระหว่างวันที่ 18 – 19 สิงหาคม 2566 พร้อมจัดเวทีเสวนา “การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วย Soft Power ในมิติทางศาสนา” นำผลิตภัณฑ์ชุมชนอันเป็นทุนวัฒนธรรม ต่อยอดขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2566 ภายในงานมหกรรมศาสนิกสัมพันธ์ “มหัศจรรย์ประทีปแห่งศรัทธามหาบารมี” ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) เปิดเผยว่า สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยที่นับถือศาสนาอื่น ต่างเกื้อกูลบูรณาการภารกิจเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมในเรื่องส่วนรวม โดยเฉพาะในเรื่องของศาสนา ตลอดจนการพัฒนาคุณธรรม ความดีงาม และการดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างปกติสุขในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม กรมการศาสนาได้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “คณะกรรมการศาสนิกสัมพันธ์ส่วนกลางและจังหวัด” ในวันที่ 18–19 สิงหาคม 2566 ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

โดยมีสาระสำคัญ คือ การรับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การอภิปรายแนวทางการดำเนินงานด้านศาสนาเชิงนโยบายและด้านศาสนิกสัมพันธ์ เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านศาสนา ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นต่อไป การนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และการแก้ไขปัญหาด้านศาสนิกสัมพันธ์ในส่วนกลางและจังหวัด รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการดำเนินงานศาสนิกสัมพันธ์จังหวัด การอภิปรายข้อมูลและรายละเอียด เพื่อประกอบการร่างระเบียบหรือกฎหมายด้านศาสนิกสัมพันธ์ ตลอดจนการทำและประกาศปฏิญญาด้านศาสนิกสัมพันธ์ร่วมกัน

อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการประชุมดังกล่าวแล้ว กรมการศาสนายังได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วย Soft Power ในมิติทางศาสนา” ในวันที่ 20 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00 น. อีกด้วย โดยได้เปิดเวทีเสวนา “การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วย Soft Power ในมิติศาสนา” ที่มาของผลิตภัณฑ์และการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ในอนาคตของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (ศพอ.) ความเชื่อมโยงกับการบูรณาการดำเนินงานศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนเกี่ยวกับการบูรณาการและการต่อยอด Soft Power หรือผลิตภัณฑ์ในชุมชนมาใช้ในงานด้านศาสนาและเศรษฐกิจ การประชุมดังกล่าวได้รับความเมตตาจาก พระมหาศรายุทธ อคฺคธมฺโม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีสามัคคีธรรม จังหวัดบึงกาฬ พระครูวินัยธรกิตติศักดิ์ โคตมสิสฺโส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ รองศาสตราจารย์ นพดล เนตรดี วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ และคุณอัจฉรา แสงจันทร์ จากชุมชนคุณธรรมวัดพระบรมธาตุ (บ้านนครชุม) จังหวัดกำแพงเพชร มาเป็นวิทยากรในการบรรยาย ซึ่งทุกท่านล้วนเป็นผู้นำ Soft Power มาใช้ในการดำเนินงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนจนเกิดเป็นรูปธรรม อาทิ

การนำความรู้ปั้นตุ๊กตาออมสินมาประยุกต์กับแนวคิดความศรัทธาพญานาคในท้องถิ่น การนำศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ ฯลฯ มาสอนนักเรียนซึ่งมีตั้งแต่เด็กเล็ก ประถม จนถึงมัธยมปลาย ให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้พัฒนาตนเองให้เป็นเด็กดีมีความรู้และความสามารถ อยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุข ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาทักษะด้านการสร้างสรรค์งานศิลป์ นำความรู้เรื่องศิลปกรรมเชื่อมโยงกับหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา และการนำความโดดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวชุมชนคุณธรรม ร่วมกับการน้อมนําหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ผลักดันจนได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของอำเภอ เป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนพลังบวรต้นแบบ เป็นต้น

การประชุมทั้ง 2 กิจกรรมนี้ นอกจากจะทำให้เกิดภาคีความร่วมมือระหว่างพระภิกษุสงฆ์ ผู้นำศาสนาต่าง ๆ องค์การทางศาสนา สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายด้านงานศาสนาในการร่วมกันดำเนินกิจกรรมในการแก้ไขปัญหาด้านศาสนิกสัมพันธ์ ศาสนิกชนได้รับรู้และเข้าใจในความต่างกันทางวัฒนธรรมของแต่ละศาสนา สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมได้โดยปกติสุขแล้ว ยังทำให้เกิดความร่วมมือ ก่อเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง บ้าน วัด/ศาสนสถาน สถานศึกษาและชุมชนในการจัดกิจกรรมทางศาสนาของชุมชน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการนำผลิตภัณฑ์ของชุมชนแสดงต่อสาธารณชน ให้เข้าถึงได้โดยง่าย ต่อยอดเป็น Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้แก่ชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงและยั่งยืนสืบไป