นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย โดยขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝน แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปริมาณและการกระจายของฝนลดลงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้เกิดฝนทิ้งช่วง หรือไม่มีฝนตกเลย เป็นสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการแพร่กระจายของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ประกอบกับฤดูกาลนี้เป็นช่วงเริ่มปลูกข้าวโพด กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกภาคของประเทศไทย
โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ยะลา และพัทลุง ควรหมั่นสำรวจแปลงเพาะปลูกอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ทันต่อสถานการณ์และไม่ให้เกิดความเสียหายตามมา โดยเฉพาะหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดซึ่งนอกจากจะทำลายข้าวโพดแล้ว ยังเป็นศัตรูของพืชอีกมากกว่า 80 ชนิด เช่น ข้าว ข้าวฟ่าง อ้อย ฝ้าย ทานตะวัน ถั่วเหลือง หญ้า และพืชผักอีกด้วย โดยหนอนจะกัดกินผิวใบ ยอด ทำให้ใบข้าวโพดขาดเป็นรู เว้าแหว่ง ยอดกุด ในระยะก่อนที่ดอกตัวผู้จะโผล่หนอนจะกัดกินเกสรตัวผู้ หลังจากดอกตัวผู้โผล่พ้นใบที่หุ้มอยู่ หนอนจะย้ายไปที่ฝัก กัดกินไหม และเจาะเปลือกหุ้มฝักเข้าไปกัดกินภายในฝัก ดังนั้น หากเกษตรกรสำรวจพบการทำลาย ขอให้เร่งดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนสร้างความเสียหายในวงกว้าง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวงจรชีวิตของผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด จะเริ่มวางไข่บนต้นข้าวโพดตั้งแต่ข้าวโพดงอกอายุ 3 – 4 วัน ซึ่งสามารถสังเกตพบกลุ่มไข่ได้ทั้งด้านบนใบ ใต้ใบ และที่ลำต้น เมื่อฟักเป็นหนอนขนาดเล็กจะรวมกลุ่มกัดกินผิวใบ จนเริ่มเห็นรอยทำลายเป็นจุดหรือแถบสีขาวที่ผิวใบเมื่อข้าวโพดมีอายุ 10 – 11 วันหลังเริ่มเพาะปลูก วิธีการกำจัดให้เก็บไข่หรือหนอนไปทำลาย ปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียนไตรโคแกรมม่า แมลงหางหนีบ มวนพิฆาต เป็นต้น หรือฉีดพ่นด้วยชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสทูริงเยนซิส สายพันธุ์ไอซาไว หรือสายพันธุ์เคอร์สตากี้ อัตรา 80 กรัมหรือมิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร แต่หากพบการระบาดรุนแรงให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่
สไปนีโทแรม 12 % SC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือ 25 % WG อัตรา 10 กรัม หรืออีมาเมกตินเบนโซเอท 5% WG อัตรา 10 กรัม หรือ 1.92 % EC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร หรือเมทอกซีฟีโนไซด์ + สไปนีโทแรม 30+6 % SC อัตรา 30 มิลลิลิตร หรืออินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 30 มิลลิลิตร หรือคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร หรือฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 10 กรัม โดยเลือกสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่ง ตามคำแนะนำผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นทางใบ เน้นบริเวณกรวยยอดของต้นข้าวโพด 2 – 4 ครั้ง ทุก 7 วัน หรือเว้นระยะห่างตามการระบาด ทั้งนี้ ให้ใช้หัวฉีดรูปกรวยฉีดพ่นในตอนเย็น และสลับกลุ่มสารเคมีทุก 30 วัน เพื่อป้องกันการดื้อยา